Skip to content

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ เป็นภาวะความผิดปกติอย่างหนึ่งของการหายใจที่เกิดขึ้นในระหว่างนอนหลับ ซึ่งมีอันตรายและอาจทำให้เกิดความผิดปกติอื่นตามมาจนถึงเสียชีวิตได้

พบอุบัติการณ์การเกิดภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ประมาณ 25% ในผู้ชายและ 10 % ในผู้หญิง โดยสามารถพบผู้ป่วยได้ในทุกกลุ่มอายุ และอุบัติการณ์จะเพิ่มขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี

ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ พบได้บ่อยในผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากกว่าปกติ หรือมีลักษณะทางกายวิภาคที่ทำให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจง่ายกว่าปกติ เช่น กล้ามเนื้อของเพดานอ่อนหย่อน ต่อมทอนซิลมีขนาดใหญ่ หรือขากรรไกรมีขนาดเล็กกว่าปกติ

ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะไม่ได้สังเกตถึงความผิดปกติในขณะหลับของตนเอง บ่อยครั้งที่ผู้พบความผิดปกติเป็นคู่สมรสหรือคนใกล้ชิด อาการของภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับที่สำคัญได้แก่

  • นอนกรน
  • เหงื่อออกตอนกลางคืน
  • นอนหลับไม่สนิท นอนกระสับกระส่ายมาก
  • สะดุ้งตื่นกลางดึก เพราะสำลักเหมือนขาดอากาศหายใจ
  • รู้สึกคอแห้งหรือเจ็บคอเมื่อตื่นนอน
  • ปวดศีรษะหลังตื่นนอนตอนเช้า
  • บุคลิกภาพหรือสมาธิเปลี่ยนไป หลงลืมบ่อย หงุดหงิดง่ายกว่าปกติ
  • ง่วงนอนหรือรู้สึกเหนื่อยอ่อนเพลียมากในเวลากลางวัน
  • เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ

ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและจิตใจ ทำให้ผู้ป่วยง่วงนอนมากผิดปกติในเวลากลางวัน เกิดปัญหาการเรียนตกต่ำ ทำให้การทำงานขาดประสิทธิภาพ และมีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายเมื่อเทียบกับคนปกติ นอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ยังมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และโรคอ้วนอีกด้วย

แพทย์สามารถวินิจฉัยภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับได้จากประวัติการนอนและการตรวจวินิจฉัยความผิดปกติระหว่างการนอนหลับ (Polysomnogram, PSG) ซึ่งเป็นการตรวจโดยให้ผู้ป่วยนอนในห้องนอนที่เป็นส่วนตัวเป็นเวลาหนึ่งคืน โดยจะมีการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับ คลื่นไฟฟ้าสมอง การเคลื่อนไหวของลูกตา การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ การเต้นของหัวใจ ลักษณะการหายใจ รวมถึงปริมาณออกซิเจนในเลือดโดยการติดขั้วโลหะ (Electrode) ที่บริเวณศีรษะและใบหน้า และเซ็นเซอร์ที่จมูก ขา หน้าอก และหน้าท้อง เพื่อใช้ในการวินิจฉัยและประเมินความรุนแรงของภาวะการหยุดหายใจขณะนอนหลับ

การเตรียมความพร้อมสำหรับการตรวจการนอนหลับของคุณ

  • หลีกเลี่ยงการงีบหลับช่วงกลางวันของวันที่นัดหมายเพื่อมาตรวจการนอนหลับ
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คาเฟอีน (กาแฟ ชา และโคล่า)
  • สระผมให้สะอาด งดใช้ครีมนวดผม และน้ำมันแต่งผมใดๆ ในวันที่มาทำการตรวจ
  • นำยาที่คุณจำเป็นต้องรับประทานมาตามปกติ ยกเว้นยาที่แพทย์งด
  • สามารถนำชุดนอนหรือเครื่องนอนประจำตัวมาได้
การรักษาภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ

แนวทางการรักษาจะต้องปรับให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ะละรายไปซึ่งประกอบด้วย

1.การปรับพฤติกรรมเสี่ยง ได้แก่

  • การลดน้ำหนักตัว จากการศึกษาวิจัย พบว่า การลดน้ำหนักลงแม้เพียงแค่ 10 % ก็สามารถลดจำนวนครั้งของการหยุดหายใจในขณะนอนหลับลงได้บ้าง
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และยานอนหลับก่อนเข้านอน เพราะจะทำให้ทางเดินหายใจอุดกั้นได้ง่ายระหว่างนอนหลับ และยังทำให้การหยุดหายใจนานขึ้น
  • พยายามนอนในท่าตะแคงจะช่วยลดความรุนแรงได้บ้างในบางราย
  • ผู้ป่วยที่มีปัญหาการอุดกั้นทางเดินหายใจอันเนื่องมาจากปัญหาไซนัสหรือมีอาการคัดจมูก การใช้สเปรย์พ่นจมูกหรือยาลดอาการคัดจมูก จะสามารถช่วยให้การหายใจในขณะหลับสะดวกมากขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการอดนอน

2.การใช้เครื่องช่วยสร้างแรงดันบวกในทางเดินหายใจ (Continuous positive airway pressure, CPAP)
เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยคงสภาพทางเดินหายใจให้เปิดโล่ง โดยการสร้างแรงดันอากาศเข้าไปเปิดทางเดินหายใจของเราตลอดเวลา CPAP เป็นวิธีการรักษาภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด โดยผู้ป่วยจะต้องใส่อุปกรณ์หน้ากาก ครอบจมูกหรือปาก แล้วเครื่องจะทำการปรับแรงดันให้สูงพอ ที่จะเป่าอากาศให้ไหลผ่านลงไป ป้องกันไม่ให้ทางเดินหายใจตีบแคบลงในขณะนอนหลับอย่างต่อเนื่อง

3.การใช้อุปกรณ์ทางทันตกรรม/ช่องปาก (Mandibular advancement devices, MAD)
สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับไม่รุนแรง การใช้ MAD จะช่วยดึงกรามล่างมาด้านหน้าเพื่อทำให้ช่องทางเดินหายใจด้านหลังกว้างขึ้นในขณะที่ผู้ป่วยนอนหลับได้

4. การรักษาด้วยการผ่าตัด ได้แก่

  • Somnoplasty เป็นวิธีการรักษาโดยการใช้คลื่นความถี่ จี้ความร้อนเข้าไปใต้เนื้อเยื่ออ่อนบริเวณเพดานปาก หรือลิ้นไก่ เพื่อเพิ่มทางเดินหายใจ
  • Uvulopalatopharyngoplasty (UPPP) คือ การผ่าตัดที่ตัดเนื้อเยื่อ ทอนซิล ลิ้นไก่และเพดานอ่อนออกไป เพื่อเปิดทางเดินหายใจส่วนบนให้กว้างมากขึ้น
  • Mandibular/maxillary advancement surgery คือ การผ่าตัดกระดูกขากรรไกร ซึ่งจะทำในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับที่มีความผิดปกติของกระดูกใบหน้ามาก
  • Nasal surgery คือ การผ่าตัดในโพรงจมูก ซึ่งจะช่วยในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของอวัยวะดังกล่าว เช่น ผนังกั้นช่องจมูกคด (deviated nasal septum)

ทั้งนี้ทั้งนั้นหลังจากการตรวจ แพทย์จะเป็นผู้เลือกการรักษาที่เหมาะสมให้กับแต่ละคน ขึ้นกับผลตรวจการนอนหลับและลักษณะของคนไข้

สามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่ศูนย์สมองและระบบประสาท รพ.กรุงเทพพัทยา หรือโทร.1719

ตรวจการนอนหลับ

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง