Skip to content

สาเหตุของโรคเบาหวาน

โรคเบาหวานแบ่งเป็นชนิดที่พบบ่อย 4 ชนิด ได้แก่เบาหวานชนิดที่ 1 หรือเบาหวานชนิดต้องพึ่งพาอินซูลิน, เบาหวานชนิดที่ 2 หรือเบาหวานชนิดไม่ต้องพึ่งพาอินซูลิน (ในระยะแรก อาจจำเป็น้องใช้อินซูลินในระยะหลัง หรือในสภาวะบางอย่าง), เบาหวานขณะตั้งครรภ์ และเบาหวานชนิดอื่นๆ

เบาหวานชนิดที่ 1 หรือเบาหวานชนิดต้องพึ่งพาอินซูลิน
เบาหวานชนิดนี้เกิดจากการที่ตับอ่อนไม่สามารถสร้างฮอร์โมนที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้จำนวนเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย โดยเกิดจากการมีภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเอง ภูมิคุ้มกันนี้จะไปทำลายเซลล์ในตับอ่อนที่สร้างฮอร์โมน “อินซูลิน” ที่ทำหน้าที่ลดระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ เบาหวานชนิดนี้อาจพบได้ในผู้ป่วยทุกช่วงอายุ แต่พบได้มากในช่วงเด็กและวัยรุ่น ประวัติการมีผู้ป่วยโรคนี้ในครอบครัวจะเพิ่มความเสี่ยงของโรคนี้มากขึ้น

เบาหวานชนิดที่ 2 หรือเบาหวานชนิดไม่ต้องพึ่งพาอินซูลิน
เบาหวานชนิดนี้เป็นเบาหวานที่พบบ่อยมากที่สุด โรคนี้ในระยะแรกเกิดจากภาวะดื้อต่อฮอร์โมน “อินซูลิน” โดยร่างกายสามารถผลิตฮอร์โมนนี้เพื่อลดระดับน้ำตาลได้ แต่ฮอร์โมนนี้ไปทำงานได้ไม่ดี ร่างกายต้องการระดับฮอร์โมนที่อินซูลินสูงมากขึ้น เพิ่มลดระดับน้ำตาล โดยภาวะดื้อต่ออินซูลินนี้เกิดจากความอ้วน ภาวะน้ำหนักเกิน แต่ก็พบภาวะดื้อต่ออินซูลินนี้ได้ในผู้ป่วยที่น้ำหนักตัวปกติ และในระยะยาวผู้ป่วยจะเกิดการเสื่อมของเซลล์ในตับอ่อนที่สร้างฮอร์โมน “อินซูลิน” ทำให้ผลิตอินซูลินได้ลดลง ช่วยส่งเสริมให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอีก ประวัติการมีผู้ป่วยโรคนี้ในครอบครัวจะเพิ่มความเสี่ยงของโรคนี้มากขึ้น

เบาหวานขณะตั้งครรภ์
รกในระหว่างตั้งครรภ์จะสร้างสารภาวะดื้อต่อฮอร์โมน “อินซูลิน” ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น เมื่อคลอดรกแล้วสภาวะนี้จะหายไป โดยผู้ป่วยที่ประวัติเคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์มาก่อน หรือมีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นมาก่อนจะเพิ่มความเสี่ยงของโรคนี้ และผู้ป่วยถ้าเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 เมื่ออายุมากขึ้นด้วย

เบาหวานชนิดอื่นๆ เช่น เบาหวานจากการใช้ยาบางชนิด เบาหวานจากโรคตับอ่อนอักเสบ
เบาหวานในกลุ่มนี้จะมีสาเหตุจำเฉพาะเป็นรายกรณีไป เป็นสภาวะที่พบไม่บ่อย เช่น เบาหวานจากโรคตับอ่อนอักเสบจากการดื่มแอลกอฮอล์ทำให้ตับอ่อนอักเสบ จนทำลายเซลล์ในตับอ่อนที่สร้างฮอร์โมน “อินซูลิน” หรือยาสเตียรอยด์ที่ทำให้เกิดภาวะดื้อต่อฮอร์โมน “อินซูลิน” เป็นต้น

นพ.บวรคุณ ตันติวุฒิกุล
อายุรแพทย์ต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม
ศูนย์เบาหวานและต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง