Skip to content

เทคโนโลยีก้าวล้ำเพื่อการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

ด้วยโครงค้ำยันหลอดเลือดเคลือบยา ชนิดย่อยสลายได้…

สวัสดีครับทุกวันนี้เรื่องโรคภัยเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามาก มากจนกระทั่งบางทีเราก็มองไม่เห็น สมัยนี้โรคที่ยังคงเป็นลำดับต้นๆ ที่มีผู้ป่วยมากขึ้นก็ไม่พ้นโรคหัวใจ ฉบับนี้ผมขอให้ข้อมูลที่จะเน้นในกลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจที่กำลังตัดสินใจรับการทำหัตถการ ซึ่งภายหลังจากผู้ป่วยได้รับการรักษาโดยรับประทานยาและปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตแล้ว แต่ไม่สามารถควบคุมอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจได้ หรือไม่สามารถหยุดยั้งเส้นเลือดตีบจนถึงขั้นกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดรุนแรง  แพทย์จะพิจารณาให้ทำหัตการอย่างใดอย่างหนึ่ง อาทิ การผ่าตัดต่อเส้นเลือด (Coronary Artery Bypass Surgery) การถ่างขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน (Balloon Angioplasty) การใส่ขดลวดขยายหลอดเลือด ชนิดเคลือบยา (Coronary Angioplasty with Drug Eluting Stent Deployment) และการใส่โครงค้ำยันหลอดเลือดเคลือบยาชนิดย่อยสลายได้ (Bioresorbable Vascular Scaffold) ซึ่งวันนี้ผมจะมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับนวัตกรรมใหม่ของการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยการใส่โครงค้ำยันหลอดเลือดเคลือบยาชนิดย่อยสลายได้กัน

โครงค้ำยันหลอดเลือดเคลือบยา ชนิดย่อยสลายได้…

นวัตกรรมล่าสุดของการรักษา ซ่อมแซมโรคหลอดเลือดหัวใจด้วยวิธีการใส่สเต็นท์ (Stent) หรือโครงค้ำยันหลอดเลือดเคลือบยาชนิดย่อยสลายได้ (Bioresorbable Vascular Scaffold) เป็นทางเลือกใหม่ในการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ มีลักษณะเหมือนกับขดลวดถ่างขยายหลอดเลือดชนิดเคลือบยา (Drug Eluting Stent) แต่สามารถสลายตัวได้ ซึ่งแพทย์จะเลือกเส้นเลือดบริเวณขาหนีบ ข้อมือ หรือแขน เพื่อเป็นเส้นเลือดนำทางไปสู่เส้นเลือดแดงที่หล่อเลี้ยงหัวใจ โดยใช้ท่อที่มีขนาดเล็กมาก มีความยืดหยุ่นสูง และมีบอลลูนติดอยู่เป็นอุปกรณ์นำท่อถ่างขยายหลอดเลือดและโครงค้ำยันหลอดเลือดเคลือบยาชนิดย่อยสลายได้ เข้าไปยังบริเวณหลอดเลือดที่ตีบตัน ซึ่งเมื่อถูกฝังที่เส้นเลือดแล้ว ยาที่เคลือบไว้ก็จะค่อยๆละลายออกมาอย่างช้าๆ เพื่อไปรักษาซ่อมแซมเนื้อเยื่อของเส้นเลือดบริเวณที่เป็นปัญหา และโครงค้ำยันจะสลายตัวไปเองภายใน 2 ปี นับจากวันที่ทำหัตถการ ทำให้หลอดเลือดกลับคืนสภาพธรรมชาติโดยปราศจากโครงสร้างค้ำยัน

วิธีการรักษาโรคหัวใจด้วยการถ่างขยายหลอดเลือด เป็นเรื่องที่ทำกันทั่วไป แต่เนื่องจากเป็นวิธีที่รุกล้ำร่างกาย มีความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญมาก จึงขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแพทย์ที่ทำการรักษา

หากท่านใดที่มีความเสี่ยงคนในครอบครัวเคยป่วยเป็นโรคหัวใจ หรือมีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูง มีภาวะอ้วนหรือไม่เคยออกกำลังกายเลย  ควรได้รับการตรวจสุขภาพหัวใจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งนะครับเพื่อป้องกันการเกิดโรคหัวใจ หรือท่านที่เป็นโรคหัวใจและต้องการเข้ารับการรักษา สามารถมาปรึกษากับศัลยแพทย์หัวใจได้ที่ ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา หรือโทร.1719

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง