Skip to content

การกรองพลาสมา สำหรับผู้ป่วยโรคไต (Plasmapheresis)

เป็นการนำเลือดออกจากผู้ป่วยไปผ่านตัวกรองที่มีคุณสมบัติยอมให้โปรตีน, ไซโตไคน์, แอนติบอดีและ immune complex ผ่านออกไปได้ ใข้ในการขจัดโปรตีนและสารสื่อการอักเสบต่างๆ ดังกล่าวออกจากร่างกาย วิธีการที่มีใช้ในประเทศไทย ได้แก่

การกรองพลาสมาด้วยวิธีมาตรฐาน (Conventional plasmapheresis) วิธีนี้ต้องมีการให้พลาสมาหรืออัลบูมินทดแทนในระหว่างการรักษา แต่ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยเป็น Thrombotic thrombocytopenic purpura (TTP) จำเป็นต้องเลือกใช้พลาสมา (Fresh frozen plasma, FFP) เป็นสารทดแทนเท่านั้น กระบวนการกรองแยกพลาสมาอาจใช้เทคนิคอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

การกรองผ่านตัวกรองพลาสมา (Filtration) โดยการนำเลือดผ่านตัวกรองพลาสมาโดยตรงและคืนเลือดส่วนที่แยกพลาสมาของผู้ป่วยออกไปแล้วกลับเข้าสู่ร่างกายพร้อม FFP หรืออัลบูมินทดแทน อัตราการไหลของเลือดผ่านตัวกรองประมาณ 100-150 มล./นาที เพื่อให้มีประสิทธิภาพของการผ่านของโปรตีนและไซโตไคน์ผ่านตัวกรองได้ดี นอกจากนั้น การเปิดอัตราการไหลของเลือดเร็วเกินไปอาจทำให้ผนังของตัวกรองพลาสมาฉีกขาดได้

การปั่นแยกพลาสมา (Centrifugation) โดยการนำเลือดผ่านเครื่องปั่นแยกพลาสมาแล้วคืนเลือดส่วนที่แยกพลาสมาของผู้ป่วยออกไปแล้วคืนเข้าสู่ร่างกายพร้อมพลาสมา หรืออัลบูมินทดแทน

การกรองพลาสมาโดยใช้ตัวกรองพิเศษร่วม (Double filtration plasmapheresis, DFPP) ตัวกรองพิเศษนี้จะมีขนาดของรูกรองและการดูดซับที่แตกต่างกันให้เลือกใช้ตามประเภทของโปรตีนที่ต้องการกำจัด โดยการสูญเสียอัลบูมินออกจากร่างกายขึ้นกับชนิดของตัวกรองพิเศษที่ใช้ แต่น้อยกว่าการสูญเสียอัลบูมินระหว่างการทำการกรองพลาสมาด้วยวิธีมาตรฐาน วิธีนี้จึงมักให้อัลบูมินทดแทนน้อยกว่าวิธีมาตรฐาน

การกรองพลาสมามักเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาเพื่อขจัดภาวะการอักเสบหรือโปรตีน และมักต้องมีการร่วมรักษาด้วยการให้ยากดภูมิคุ้มกันหรือยาเคมีบำบัดด้วยเพื่อป้องกันการสร้างภาวะการอักเสบ หรือโปรตีนต่างๆ ขึ้นมาใหม่สรุปการวินิจฉัยที่มีคำแนะนำให้รักษาด้วยการกรองพลาสมาตามระดับของหลักฐานทางวิชาการดังแสดงในตารางที่ 5 และ 6 ผู้ป่วยควรได้รับการติดตามอาการและอาการแสดงทางคลินิกทั้งระหว่างและหลังการรักษาด้วยการกรองพลาสมาเพื่อป้องกันและแก้ไขภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ ภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ การแพ้ส่วนประกอบของเลือดหรืออัลบูมิน ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำโดยเฉพาะผู้ที่ใช้พลาสมาเป็นสารทดแทน หรือผู้ที่ใช้สารกันเลือดแข็งที่มีซิเตรทเป็นส่วนประกอบ (Citrate anticoagulant) จึงควรมีการให้สารละลายแคลเซียมทดแทนระหว่างทำการกรองพลาสมาด้วย

อ้างอิงจาก : คู่มือการรักษาด้วยการฟอกเลือดและการกรองพลาสมาสำหรับผู้ป่วยโรคไต พ.ศ. 2561  โดย คณะอนุกรรมการกำหนดแนวทางการรักษาด้วยการฟอกเลือดและการกรองพลาสมา สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง