Skip to content

ว่าด้วยเรื่อง การคุมน้ำหนักตัว

เมื่อไหร่ถึงเรียกว่าน้ำหนักเกิน?

สามารถคำนวณเองได้ง่ายๆ โดยใช้ค่าดัชนีมวลกาย (body mass index) คำนวณดัชนีมวลกาย = น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หารด้วย ส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง

ดัชนีมวลกาย สำหรับคนไทยและคนเชื้อสายเอเชีย

  • มากกว่า 23 ถือว่าน้ำหนักเกิน
  • มากกว่า 25 คือภาวะอ้วน

ดัชนีมวลกาย สำหรับคนตะวันตกและเชื้อชาติอื่นๆ

  • มากกว่า 25 ถือว่าน้ำหนักเกิน
  • มากกว่า 30 คือภาวะอ้วน

 bmi

วิธีการลดหรือควบคุมน้ำหนักด้วยตนเอง

หลักการสำคัญของการลดน้ำหนักคือการทำให้จำนวนพลังงานแคลอรี่ที่เข้าสู่ร่างกาย (Intake) น้อยกว่าพลังงานแคลอรี่ที่ร่างกายเผาผลาญออกไป (Output)

วิธีการแรกคือการลดพลังงานแคลอรี่ (Intake) ที่ได้จากการทานอาหาร โดยจำกัดให้ลดลงจากปกติ ให้เหลือโดยประมาณ 1200 -1500 แคลอรี่ต่อวัน (คนปกติทานอาหารได้พลังงานประมาณ 1800-2000 แคลอรี่ต่อวัน) โดยชนิดและสูตรอาหารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำ (Low carb diet), อาหารไขมันต่ำ (Low fat diet), อาหารมังสวิรัติ (vegetarian diet), อาหารคีโต (Keto diet), อาหารแอตกินส์ (Atkins diet) หรือการทานแบบ intermittent fasting (IF) ตราบใดที่ลดจำนวนพลังงานแคลอรี่ที่เข้าสู่ร่างกาย (Intake) ได้เท่ากัน ก็จะลดน้ำหนักได้เหมือนกัน

วิธีการที่สองคือการเพิ่มการเผาผลาญ (Output) จากการออกกำลังหรือทำกิจกกรมต่างๆเพิ่ม โดยอาจเป็นการเดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำหรือแค่เพิ่มกิจกรรมที่ทำอยู่เดิมในชีวิตประจำวัน เช่นเดินระยะทางเพิ่มขึ้นก็ได้

ถ้าสามารถลดพลังงานที่เข้าสู่ร่างกายและเพิ่มพลังงานที่ร่างกายเผาผลาญออกไป ไปได้เรื่อยๆอย่างต่อเนื่อง จะทำให้น้ำหนักตัวลดลง และที่สำคัญคือต้องทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่ทำเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง และกลับไปทานอาหารแบบเดิมและเลิกออกกำลังกาย เพราะจะทำให้น้ำหนักตัวลดลงและกลับไปเพิ่มขึ้นอีกครั้ง จนน้ำหนักตัวเท่าเดิม หรือมากกว่าเดิม

วิธีการลดหรือควบคุมน้ำหนักด้วยยา

ปัจจุบันมียาอย่างน้อย 3 ชนิดที่ได้รับการรับรองว่าสามารถใช้ลดน้ำหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ได้แก่ยาออริสแตท (Orlistat), ยาเฟนเทอร์มีน (Phentermine) และยาแซคเซ็นดา (Saxenda) โดยยาแต่ละชนิดมีข้อดี ข้อเสีย และข้อจำกัดในการใช้แตกต่างกัน จำเป็นที่จะต้องได้รับคำปรึกษาและได้รับการดูแลจ่ายยาโดยแพทย์ (ยกเว้นยาออริสแตท Orlistat สามารถซื้อได้เองจากร้านขายยา)

หลักการสำคัญของการใช้ยาเหล่านี้คือใช้ประกอบควบคู่ไปกับการควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย ไม่สามารถใช้ยาเพียงอย่างเดียวได้ โดยยาจะช่วยเพิ่มฮอร์โมนที่ทำให้อิ่มเพิ่มมากขึ้น  ช่วยลดความหิว หรือความไม่สุขสบายระหว่างที่ควบคุมอาหารได้

วิธีการลดหรือควบคุมน้ำหนักด้วยผ่าตัด

ปัจจุบันมีการผ่าตัด 2 รูปแบบหลักๆ คือการผ่าตัดเพื่อลดขนาดกระเพราะอาหาร และการผ่าตัดเพื่อตัดต่อลำไส้เพื่อลดการดูดซึมอาหาร การผ่าตัดจะทำให้สามารถรับประทานอาหารได้ลดลง และมีการกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนที่ทำให้อิ่มเพิ่มมากขึ้น โดยการผ่าตัดจะทำเฉพาะในผู้ป่วยที่มีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 40 หรือ มากกว่า 35 และมีโรคร่วมต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือ มากกว่า 30 ในกรณีที่ต้องการผ่าตัดเพื่อให้หายขาดจากโรคเบาหวาน

สุดท้ายสิ่งที่สำคัญที่สุดในการลดน้ำหนัก คือการรักษาหรือคงน้ำหนักตัวไว้ ไม่ให้กลับไปน้ำหนักเกินอีก ซึ่งต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนนิสัยการทานอาหาร และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จนเป็นนิสัยติดตัวใหม่ เปรียบการลดน้ำหนักตัวเหมือนกับการวิ่งมาราธอน ไม่ใช่การวิ่งแข่ง 100 เมตร ที่ถ้าเร่งเอาแค่ช่วงแรก สุดท้ายจะหมดแรงก่อนถึงเส้นชัย

world

นพ.บวรคุณ ตันติวุฒิกุล
อายุรแพทย์โรคต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิซึ่ม โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง