Skip to content

รู้ทัน โรคลมชัก รับมือได้

หน้าแรก  >  บทความเกี่ยวกับสุขภาพ

โรคลมชักคืออะไร ?

โรคลมชักเป็นโรคที่เกิดจากกลุ่มอาการชักอันเนื่องมาจาก การที่สมองส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดทำงานมากเกินปกติไปจากเดิมชั่วขณะ จากไฟฟ้าของการชักเกิดขึ้นและกระจายออกไปในบริเวณส่วนต่างๆของสมอง อาการแสดงที่เกิดขึ้นนั้น ขึ้นกับว่าเป็นส่วนใดของสมองที่ได้รับการกระตุ้นและอาการจะดำเนินอยู่ชั่วครู่

โรคลมชักมีสาเหตุเกิดจากอะไรบ้าง ?

  1. ความผิดปกติทางด้านโครงสร้างสมอง สาเหตุจากรอยโรคในสมองได้แก่ แผลเป็นที่ฮิปโปแคมปัส (สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความจำ), เนื้องอกสมอง, เส้นเลือดสมองผิดปกติ, หลังการได้รับบาดเจ็บทางสมอง, การขาดอ็อกซิเจนหลังคลอดจากการคลอดลำบาก
  2. พันธุกรรม ได้แก่ กลุ่มอาการที่เด่นชัดและเริ่มเกิดโรคลมชักตามอายุ, ความผิดปกติทางระบบประสาทร่วมกับผิวหนัง, เซลล์สมองพัฒนาผิดรูปบางชนิด
  3. สาเหตุจากโรคติดเชื้อ เช่น ไข้สมองอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส, แบคทีเรีย, การติดเชื้อโปรโตซัวหรือพยาธิในสมอง
  4. สาเหตุจากภาวะเมตตาบอลิซึม เช่นภาวะความไม่สมดุลของสารน้ำ, เกลือแร่และน้ำตาล ได้แก่ภาวะระดับเกลือโซเดียมในเลือด และระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดสูงหรือต่ำเกินไปเป็นต้น
  5. สาเหตุจากภูมิคุ้มกัน เป็นสาเหตุที่เกิดจากภาวะภูมิคุ้มกันของตนเองเช่นโรคไข้สมองอักเสบบางชนิด Rasmussen encephalitis, Limbic encephalitis และโรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเอง (SLE) เป็นต้น
  6. ยังไม่ทราบสาเหตุ (Unknown) ได้แก่ โรคลมชักที่ไม่พบรอยโรคในสมอง (Non-lesional epilepsy)

อาการชัก จะมีลักษณะแบบใดบ้าง ?

ปัจจุบันแบ่งเป็น 4 แบบใหญ่ๆ

  1. Focal Onset (มีจุดกำเนิดคลื่นไฟฟฟ้าเฉพาะที่)
  2. Generalized Onset (มีจุดกำเนิดคลื่นไฟฟ้าทั่วสมอง)
  3. Unknown Onset (ไม่ทราบจุดกำเนิดคลื่นไฟฟ้าสมองผิดปกติ)
  4. Unclassified (ไม่สามารถระบุชนิดอาการชักได้)

ชนิดของอาการชัก (Epileptic seizures) ที่พบได้บ่อย ๆ

  • อาการชักเฉพาะที่ (ทั้งแบบรู้ตัวและไม่รู้ตัว) โดยกระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติอาจรบกวนสมองส่วนที่ควบคุมการทำงานแห่งใดแห่งหนึ่งในร่างกาย ทำให้เกิดอาการต่างๆ โดยที่ยังไม่รู้ตัว เช่น อาการชา หรือกระตุกของแขนขาหรือใบหน้าข้างใดข้างหนึ่งเป็นซ้ำๆ โดยที่ไม่สามารถควบคุมได้ นอกจากนี้อาจมีอาการคลื่นไส้ ปวดท้อง หวาดกลัวความรู้สึกแปลกๆ ความรู้สึกเหมือนฝัน หูแว่ว เห็นภาพหลอน หรือหัวใจเต้นผิดปกติ
  • อาการชักแบบเหม่อลอย ผู้ป่วยมักจะมีอาการเตือนนำมาก่อนเหมือนดังที่กล่าวมาแล้ว ตามด้วยอาการเหม่อลอยผู้ป่วยมักจะทำปากขมุบขมิบหรือเคี้ยวปากหรือมือเกร็งหรือขยับไปมา อาจคลำตามเสื้อผ้าอย่างไม่รู้ตัว เคลื่อนไหวแขนขาอย่างไร้จุดหมายโดยไม่รับรู้สิ่งรอบข้างแล้ว โดยที่จำเหตุการณ์ระหว่างนั้นไม่ได้ อาการเหม่อลอย จะนานประมาณไม่กี่วินาที จนถึงหลายๆ นาทีหลังจากนั้นผู้ป่วยมักจะมีอาการสับสน ในผู้ป่วยบางรายอาจจะมีอาการพูดไม่ได้หรือยกแขนข้างใดข้างหนึ่งไม่ได้อีกหลายนาทีกว่าจะตื่นเป็นปกติ
  • อาการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว (Focal to bilateral tonic-clonic) เกิดจากการที่กระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติรบกวนเวลาการทำงานของสมองทั้งหมด จะเกิดอาการชักที่เรียกว่า “อาการชักทั่วทุกส่วน” หรือที่เรียบว่าลมบ้าหมู ชนิดที่พบบ่อยคือ อาการชักเกร็งกระตุกทั้งตัว ผู้ป่วยจะสูญเสียความรู้สึกตัวทันที และล้มลงกล้ามเนื้อจะแข็งเกร็งทั่วทั้งตัวตาจะเหลือกค้าง น้ำลายฟูมปาก อาจจะกัดลิ้นตนเองหรือปัสสาวะราด ระยะเวลาชักนานประมาณ 2-3 นาที หลังชักมักจะเพลียและนอนหลับหลังจากหยุดชัก
  • อาการชักแบบเหม่อนิ่ง (Absence) พบได้บ่อยในวัยเด็ก อาการจะเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นมาก ผู้ป่วยจะจ้องไปข้างหน้าอย่างไร้จุดหมายเป็นระยะเวลาสั้นๆ คล้ายเหม่อประมาณ 2-3 วินาที แล้วกลับมาทำสิ่งที่ค้างอยู่ต่อไปโดยมักไม่มีการเคลื่อนไหวแขนขา

การตรวจวินิจฉัยโรคลมชัก มีอะไรบ้าง ?

การตรวจเพื่อวินิจฉัย ได้แก่การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง มีทั้งการตรวจแบบปกติทั่วไปใช้เวลาบันทึกการตรวจประมาณ 20- 30 นาที และการตรวจแบบบันทึกเป็นเวลานาน 2 ชั่วโมงจนถึง 24 ชั่วโมง เพื่อเพิ่มโอกาสตรวจพบความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าสมอง

  • การตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง เพื่อหาสาเหตุชักจากความผิดปกติในสมอง
  • การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์เพื่อหาจุดความผิดปกติของสมองที่ทำให้เกิดอาการชัก เช่น PET scan และ SPECT
  • ปัจจุบันมีการตรวจเลือดหาสาเหตุทางพันธุกรรมในโรคลมชักบางชนิดที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์

Epilepsy01

โรคลมชักรักษาหายหรือไม่ ?

โรคลมชักบางชนิดรักษาหายขาดได้ เช่นชนิดที่พบสาเหตุที่ชัดเจนและแก้ไขได้ แต่ส่วนใหญ่มักควบคุมอาการได้ด้วยยารักษาโรคลมชักและผู้ป่วยจำนวนหนึ่งดื้อต่อการใช้ยารักษา จำเป็นที่ต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีอื่น เช่นการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด

โรคลมชักมีวิธีการรักษากี่วิธี ? การรับประทานยาต้องรับประทานตลอดชีวิตหรือไม่ ?

แบ่งได้ 2 วิธีใหญ่ๆ คือ ใช้ยากันชักอย่างเดียว และ ใช้ยากันชักร่วมกับวิธีอื่นๆเช่นการผ่าตัด, การกระตุ้นสมองด้วยไฟฟ้า, การใช้อาหารสูตรพิเศษ ketogenic diet คืออาหารที่มีสัดส่วนของไขมันสูง คาร์โบไฮเดรตต่ำ และโปรตีนที่เพียงพอเหมาะสม
การรับประทานยานานเท่าใดขึ้นกับชนิดของโรคลมชัก และบางชนิดไม่จำเป็นต้องรับประทานยาตลอดชีวิต

การรับประทานยากันชักมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง ? ยาแต่ละชนิดมีความแตกต่างกันอย่างไร ?

ผลข้างเคียงในระยะสั้น และผลข้างเคียงในระยาว ผลข้างเคียงในระยะสั้นมักป็นผลที่เกิดขึ้นได้ทันทีหลังรับประทานยา เช่น ภาวะมึนงง เวียนศีรษะ ง่วงซึมเนื่องจากยาออกฤทธิ์ที่เซลสมอง ผลข้างเคียงระยะยาว ได้แก่ ผลกระทบต่อการทำงานของตับและไตเสื่อมลง ผลกระทบด้านความคิด ความจำ สมาธิ ผลด้านน้ำหนักตัวพบทั้งน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงกว่าปกติ ซึ่งยากันชักแต่ละชนิดจะมีผลข้างเคียงที่แตกต่างกัน ยากันชักปัจจุบันที่ใช้มีทั้งยาที่ผลิตรุ่นแรกๆและรุ่นใหม่ๆ ใช้รักษาโรคลมชักได้ดีไม่ด้อยกว่ากันขึ้นกับชนิดของโรคลมชักและขนาดการใช้ยาที่เหมาะสมในแต่ละบุคคล เพราะฉะนั้นการใช้ยาจึงจำเป็นที่จะต้องใช้โดยคำแนะนำแพทย์ที่ดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นสำคัญ

โรคลมชักถ้ารักษาด้วยการทานยาไปนานๆ จะมีโอกาสที่โรคมีความรุนแรงมากขึ้นหรือไม่ ?

โดยทั่วไปแล้วการรักษาโรคลมชักจะใช้ยารักษาไปนานๆในที่นี้หมายถึง มากกว่า 2 ปีขึ้นไป ก็ต่อเมื่อผู้ป่วยเป็นโรคลมชักชนิดที่รักษายาก เช่น มีความผิดปกติของเนื้อสมอง ผิวสมอง ทำให้การหยุดรับประทานยามักไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งตัวโรคลมชักเองอาจจะคงที่หรือมีโอกาสที่จะรุนแรงเพิ่มขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคลมชัก

ความรุนแรงของโรคลมชักถึงขั้นเสียชีวิตหรือไม่ ?

โรคลมชักบางชนิดเช่นโรคมลมชักเฉพาะที่ ที่ยังคุมอาการได้ไม่ดี และมีอาการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัวบ่อยๆ เช่นมากกว่า 4 ครั้งต่อเดือน ผู้ป่วยจะมีความเสี่ยงที่จะชักต่อเนื่องหรือชักจนเสียชีวิตได้

ผู้ป่วยโรคลมชักควรดูแลตัวเองอย่างไร ?

ควรใช้หลักการทั้งดูแลตนเองทั่วไป เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายและดูแลตนเองเฉพาะโรคลมชัก ซึ่งมีสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังและต้องหลีกเลี่ยง คือไม่ดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ไม่อดนอน ไม่เครียด การออกกำลังกายอย่างหักโหมหรือทำงานหนักจนเหนื่อยล้า หากไม่สบายมีไช้สูง ควรรีบรักษาให้หายให้เร็วที่สุด ซึ่งปัจจัยดังกล่าวมีโอกาสทำให้อาการชักกำเริบได้ กรณีที่โรคลมชักยังไม่สงบยังอยู่ในช่วงของการปรับยากันชัก ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมหรือสถานการณ์ที่อาจเกิดอันตรายต่อตนเองเมื่อมีอาการชักกำเริบเช่น ขับรถ ว่ายน้ำ การปีนขึ้นที่สูง การใช้ของมีคม เป็นต้น

ถ้าเราเป็นผู้พบเห็นคนชักล้มลงกับพื้น อย่างแรกเราควรทำอย่างไร ?

เราจะสามารถช่วยเหลืออะไรผู้ป่วยได้บ้าง ? และหากผู้ป่วยรู้สึกตัวแล้วเราควรทำอย่างไร ?
ต้องตั้งสติให้ดีตะโกนเรียกผู้อื่นให้ช่วยโทรแจ้งขอความช่วยเหลือแล้วรีบเข้าไปประคองตัวผู้ป่วยและปฏิบัติตามขั้นตอนอย่างระมัดระวังได้แก่

  1. จัดท่าให้ผู้ป่วยนอนตะแคงทางด้านขวา
  2. ป้องกันผู้ป่วยจากอุบัติเหตุและการบาดเจ็บ
  3. หากสวมแว่นตาหรือฟันปลอมควรถอดแว่นตาหรือฟันปลอมออก (ถ้าทำได้ง่าย)
  4. เคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกห่างจากบริเวณที่อาจเกิดอันตราย เช่น ท้องถนน เสาไฟฟ้า ที่สูง หรือบ่อน้ำ
  5. ห้ามผูกมัด หรือ กดตัวผู้ป่วย หรือทำวิธีใดๆ ให้ผู้ป่วยหยุดชัก (ไม่งัด ไม่ง้าง ไม่ถ่าง ไม่กด)
  6. ไม่ควรทิ้งผู้ป่วยไว้ตามลำพังขณะชักหรือหลังชักใหม่ ๆ
  7. ไม่ควรให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารทันทีหลังชักใหม่ ๆ
  8. ดูแลอาการสับสนระหว่างชัก หรือหลังชักจนกว่าจะหายไปเอง
  9. ไม่ควรเร่งให้ผู้ป่วยยืนหรือเดินขณะพักฟื้น ถ้าผู้ป่วยหลับให้พักจนเพียงพอ (การรีบปลุกอาจทำให้ผู้ป่วย สับสนและอาละวาด หรืออาจเกิดการชักซ้ำได้)

หากเราเป็นญาติที่มีผู้ป่วยโรคลมชักอยู่ที่บ้าน จะต้องดูแลและปฏิบัติตัวอย่างไร ?

  1. ผู้ที่เห็นอาการชัก ควรพยายามสังเกตและจดจำลักษณะอาการชัก เพื่อเป็นประโยชน์ในการวินิจฉัยการรักษา
  2. ควรหลีกเลี่ยงสถานที่และการทำงานที่เสียงอันตราย ในขณะที่ยังคุมอาการชักไม่ได้ เช่น ใกล้แหล่งน้ำ, ผิวจราจร, เตาไฟ, ของร้อน, การทำงานกับเครื่องจักรกล
  3. ห้ามขับรถยนต์และรถจักรยานยนต์ จนกว่าจะไม่มีอาการชักอย่างน้อย 1 ปี
  4. หลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการชัก ได้แก่ การอดนอน, ความเครียด, ออกกำลังกายที่หักโหมหรือทำงานอย่างหนักจนเหนื่อยล้า, การดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด รวมทั้งของหมักดอง เช่นผักหรือผลไม้ดอง
  5. ปฏิบัติตัวและรับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์
    • ไม่ควรหยุดยา, ลดยา หรือรับประทานยาไม่สม่ำเสมอ
    • ถ้าไม่เข้าใจวิธีรับประทานยา ควรสอบถามทันที
    • ถ้าลืมรับประทานยาไปเพียงมื้อเดียว หรือวันเดียว ให้รับประทานยาทันทีที่นึกได้ แต่ถ้าใกล้มื้อยาต่อไปให้ข้ามไปรับประทานยามื้อต่อไปตามปกติ
    • ไม่ควรรับประทานยาอื่นๆ ร่วมกับยากันชักโดยมิได้ปรึกษาแพทย์
    • ในกรณีที่ต้องเปลี่ยนสถานที่รักษา ควรนำยาที่รับประทานในปัจจุบันไปให้แพทย์พิจารณาด้วย
  6. แม้ว่าคุมอาการชักได้ดีแล้ว ห้ามหยุดยาเองก่อนเวลาที่แพทย์แนะนำ เพราะโรคอาจยังไม่หายหรือกำเริบซ้ำใหม่ได้
  7. เมื่อตั้งครรภ์ หรือเจ็บป่วยอย่างอื่น ควรแจ้งแก่แพทย์ผู้รักษาถึงโรคที่เป็น และยาที่รับประทานทั้งหมดในปัจจุบัน
  8. ถ้ามีอาการผิดปกติใดๆ ที่สงสัยว่าอาจจะแพ้ยา เช่น เป็นผื่น มีไข้ ควรโทรศัพท์ปรึกษาทางสายด่วนทันที และกลับมาพบแพทย์ผู้รักษา พร้อมนำยาที่รับประทานมาด้วย

คำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคลมชัก

โรคลมชักเป็นโรคที่พบได้บ่อยพบได้ทุกเพศทุกวัยตั้งแต่แรกคลอดจนถึงวัยชราโดยเฉพาะในประเทศที่ยากจนพบได้มากถึง 1% ของประชาการ ส่วนใหญ่โรคลมชักเป็นโรคที่รักษาหายได้ คือควบคุมอาการไม่ให้กำเริบได้โดยการรักษาด้วยการรับประทานยากันชัก หรือหากพบสาเหตุที่แก้ไขได้ก็อาจหายขาดได้

โรคลมชักมีผลกระทบโดยตรงต่อผู้ป่วย ครอบครัวและบุคคลรอบข้าง ส่งผลให้เกิดความรู้สึกที่เป็นตราบาป รู้สึกสูญเสียความมั่นใจในตนเอง และคุณค่าในตนเองเนื่องจากลักษณะอากการชักที่ปรากฏต่อหน้าบุคคลทั่วไป อาจส่งผลกระทบต่อการเรียน หน้าที่การงานโอกาสและสิทธิทางสังคมได้

เพราะฉะนั้นทั้งบุคคลภายในครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อนร่วมงานควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคลมชัก และช่วยกันเฝ้าระมัดระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้นหากผู้ป่วยมีอาการชัก จะได้ช่วยกันดูแลเบื้องต้นได้อย่างถูกต้อง ก่อนที่ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลรักษากับแพทย์ต่อไป

โดย นพ.ยอด ปิ่นโรจน์ อายุรแพทย์ระบบประสาท อนุสาขาประสาทวิทยาโรคลมชัก
ศูนย์สมองและระบบประสาท รพ.กรุงเทพพัทยา

New call-to-action

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง