Skip to content

นอนกรนเกิดจากอะไร ? มีความผิดปกติหรือไม่ ?

สาเหตุของการนอนกรน

ใครจะเชื่อว่านอนกรนเป็นอาการแสดงของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ การกรนเกิดจากทางเดินหายใจส่วนต้นในช่องคอตีบ เมื่อหายใจผ่านช่องคอที่แคบ จึงทำให้เกิดเป็นเสียงกรน แต่การตีบแคบของช่องคอ จะมีระดับความผิดปกติที่ต่างกันออกไป คนส่วนใหญ่ที่นอนกรน แต่มักจะบอกว่า “กรนปกติ” จริงแล้วกรนเป็นอาการที่แสดงถึงการหายใจผ่านช่องคอที่แคบ แต่ถ้าช่องคอแคบมากจะทำให้เสียงกรนเบาและหายเป็นระยะๆ ซึ่งจะพบในภาวะที่เรียกว่า ทางเดินหายใจอุดกั้นขณะหลับ หรือเรียกว่าภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับและการนอนกรน

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ มีความรุนแรงในระดับที่ต่างกัน แต่ทั้งหมดจะมีผลให้คุณภาพการนอนแย่ลง เนื่องจากขณะหลับ ระบบร่างกายที่ควบคุมการหายใจจะต่างจากขณะตื่น แต่ละครั้งที่หายใจ ทางเดินหายใจส่วนต้น จะมีการยุบหย่อนตัว หรือมีการอุดกั้นจากโครงสร้างในช่องคอเป็นระยะๆ เกิดเป็นเสียงจากการนอนกรน ที่ดังเบาสลับกันไม่แน่นอน มีโอกาสให้ไม่สามารถหายใจรับอากาศและปริมาณออกซิเจนได้ต่อเนื่อง สมองจะตื่นตัวเป็นระยะ เพื่อกระตุ้นให้ทางเดินหายใจส่วนต้นเปิด จึงทำให้สมองไม่สามารถเข้าสู่ระยะการหลับลึกได้ง่าย ระยะการหลับไม่ครบวงจร โอกาสการหลับลึกและหลับฝันน้อยลง

ผลกระทบของการหลับลึกน้อยลงและฝันน้อยลง

การนอนกรนจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่ส่งผลให้การหลับลึกที่น้อยลง มีผลให้เกิดการเสื่อมสภาพของร่างกายโดยรวม โอกาสเกิดภาวะความดันโลหิตสูง หัวใจทำงานผิดปกติ ปวดศีรษะ ภาวะหลอดเลือดสมองตีบ การเผาผลาญพลังงานผิดปกติ ภาวะอ้วน ระดับฮอร์โมนต่างๆไม่สมดุล ความสามารถของร่างกายในการปรับเปลี่ยนความดันโลหิต อาจมีอาการหน้ามืดเป็นลมบ่อยๆ และความผิดปกติอีกหลายอย่าง ช่วงระหว่างวันเช่น ตื่นปากคอแห้ง ไม่สดชื่น ง่วงเพลียกลางวัน หรือต้องการงีบหลับกลางวันบ่อยๆ สภาวะทางอารมณ์ไม่คงที่ เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยงอาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

ปัจจัยเสี่ยงของการนอนกรนร่วมกับหยุดหายใจขณะหลับเช่น

  • โรคอ้วน
  • เพศชาย หรือ หญิงที่ได้รับฮอร์โมนเพศชายจากภายนอก
  • รูปร่างโครงสร้างใบหน้าผิดปกติ คางเล็ก
  • ผู้ใหญ่หรือเด็กที่มีต่อมทอลซิลหรืออดีนอยด์โต
  • มีติ่งเนื้อหรือบางอย่างอุดตันในรูจมูก
  • ลิ้นโต
  • ลิ้นไก่ยาว

แต่ในบางคนที่ผอม และไม่มีโครงสร้างที่ความเสี่ยงต่อภาวะหยุดหายใจขณะหลับ แต่เมื่อตรวจกลับพบความผิดปกตของการหายใจนี้และมีความรุนแรงมากกว่ากลุ่มคนที่มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว ก็สามารถพบได้บ่อย ๆ เพราะปัจจัยสำคัญของการเกิด ไม่ได้ขึ้นกับโครงสร้างอย่างเดียว แต่ขึ้นกับการทำงานของระบบกล้ามเนื้อที่ใช้เปิดช่องคอด้วย

การตรวจวินิจฉัยเพื่อการแก้นอนกรนผิดปกติ

จะทราบได้อย่างไรว่าการนอนกรนมีสาเหตุจากอะไร ? หรือเรามีปัญหาการหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่ ? รุนแรงแค่ไหน ? สามารถทำได้โดย พบแพทย์เฉพาะทางที่ดูแลเรื่องการหลับ เพื่อตรวจร่างกาย และพิจารณาตรวจการนอนหลับเพิ่มเติมซึ่งจะใช้เวลาโดยทั่วไปคือหนึ่งคืน และจะสามารถให้การทดลองรักษาได้ในคืนที่ตรวจ ยกเว้นในบางกรณีที่ความผิดปกติที่พบไม่สามารถให้การรักษาได้ในคืนเดียวกับที่มาตรวจ จำเป็นต้องพบแพทย์หลังตรวจเพื่อวางแผนการดูแลรักษาเพิ่มเติม

หากใครรู้สึกว่าตัวเอง มีอาการใด ที่เข้าได้กับลักษณะดังกล่าวข้างต้น แนะนำให้รับการตรวจร่างกายกับแพทย์ที่ดูแลเรื่องการนอนหลับ เพื่อวินิจฉัยและวางแผนการรักษาได้ถูกต้อง

ตรวจการนอนหลับ

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง