Skip to content

ปวดหัวบ่อยๆ ต้องระวัง เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือน “เนื้องอกในสมอง”

หน้าแรก  >  บทความเกี่ยวกับสุขภาพ

อาการปวดหัวพบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะคนทำงานในยุคนี้ ปวดบ่อยจนชิน จนกลายเป็นความไม่ใส่ใจตนเอง แต่คุณรู้หรือไม่การปวดหัวบ่อยๆ อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคเนื้องอกในสมองได้

เนื้องอกในสมอง

เป็นเนื้อเยื่อที่เจริญเติบโตจากเซลล์ผิดปกติในสมอง หรือบริเวณใกล้เคียงสมองรวมทั้งเนื้องอกจากอวัยวะอื่นๆในร่างกายที่แพร่กระจายไปที่สมอง มีผลกระทบต่อการทำงานของสมองและระบบประสาท โดยมีอาการทางร่างกายแตกต่างกันไป เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เห็นภาพไม่ชัด มีปัญหาด้านการพูดและการเคลื่อนไหว ถึงขั้นมีอาการรุนแรงจนเกิดการชัก หรือเป็นอัมพาต เพราะก้อนเนื้องอกไปกดทับสมองส่วนที่ควบคุมการทำงานในส่วนต่างๆ ยังไม่มีการยืนยันถึงสาเหตุการเกิดเนื้องอกในสมองว่าเกิดได้อย่างไร แต่อาจเกิดจากความผิดปกติของพันธุกรรมในเซลล์สมอง กรรมพันธุ์ อายุ หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิต

4 ระดับความรุนแรงของเนื้องอกในสมอง

ระดับที่ 1 : เป็นก้อนเนื้อธรรมดา เติบโตช้า และยังไม่มีการแพร่กระจาย สามารถรักษาให้หายได้ และอาจไม่กลับมาเป็นซ้ำ
ระดับที่ 2 : เนื้องอกระดับปานกลาง เนื้องอกแพร่กระจายอยู่ในเนื้อเยื่อสมอง ยังไม่เป็นเนื้อร้าย สามารถรักษาได้ เนื้องอกเจริญเติบโตช้า ผู้ป่วยสามารถมีชีวิตอยู่ได้หลายปีแต่มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้บ้าง
ระดับที่ 3 : เป็นก้อนเนื้อที่เป็นเซลล์มะเร็ง ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้สูง
ระดับที่ 4 : เป็นมะเร็งสมองชนิดร้ายแรง เนื้องอกเติบโตและแพร่กระจายเร็ว ทำให้เสียชีวิตในเวลาอันสั้น

อาการที่สามารถสังเกตได้ว่าอาจเป็นโรคเนื้องอกในสมอง
  • ปวดศีรษะบ่อยๆ หรือปวดเรื้อรัง อาจปวดรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆหรือปวดศีรษะกลางคืนระหว่างที่นอนหลับ
  • คลื่นไส้ อาเจียน ง่วงซึม
  • เห็นภาพเบลอ หรือภาพซ้อน
  • มีปัญหาในการได้ยิน การพูด สื่อสาร พูดจาติดขัด
  • มีปัญหาในการเคลื่อนไหว การทรงตัว
  • แขนขาอ่อนแรง หรือเป็นอัมพาตครึ่งซีก
  • มีปัญหาด้านความจำ สับสบ มึนงง
  • มีอาการชัก ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีประวัติการชักมาก่อน
การตรวจวินิจฉัยโรคเนื้องอกในสมอง

เมื่อมีอาการที่สงสัยว่าอาจมีเนื้องอกในสมอง ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจหาสาเหตุ โดยเบื้องต้นแพทย์จะทำการตรวจร่างกายอย่างละเอียด ด้วยเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ในบริเวณต่างๆ อย่างละเอียด หากพบว่ามีเนื้องอกในสมอง หรือเนื้อเยื่อผิดปกติ แพทย์อาจทำการผ่าตัดเพื่อเอาก้อนเนื้องงอกออก หรือทำการเจาะเอาชิ้นเนื้อออกตรวจในกรณีที่ยังไม่แน่ใจว่าเป็นเนื้องอกจริงหรือไม่ เพื่อส่งตรวจวินิจฉัยหาความผิดปกติของเนื้อเยื่อว่าเป็นเนื้องอกชนิดใด รุนแรงระดับไหน เพื่อวางแผนทำการรักษาต่อไป

การรักษาโรคเนื้องอกในสมอง
  1. การผ่าตัด เป็นการรักษาหลักในเนื้องอกสมองส่วนใหญ่ ทั้งระดับ1 – 4 แพทย์จะสามารถทำการผ่าตัด ซึ่งมี 2 วิธีคือ การผ่าเปิดกระโหลก และการผ่าตัดส่องกล้อง (ทำได้เฉพาะเนื้องอกบางตำแหน่งเท่านั้น) เนื่องจากเนื้องงอกมีหลายชนิด และสามารถเกิดขึ้นได้หลายตำแหน่งในสมอง การผ่าตัดจึงมีวิธีการ ผลลัพธ์และภาวะแทรกซ้อนแตกต่างกันได้มาก แต่หลักการโดยรวมคือ การพยายามเอาเนื้องอกออกให้ได้มากที่สุดโดยพยายามให้เกิดผลกระทบ หรือความเสียหายต่อสมองและเส้นประสาทน้อยที่สุด ไปในเวลาเดียวกัน
  2. การฉายรังสี กรณีที่ไม่สามารผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออกได้ หรือเอาออกได้เพียงบางส่วน หรือเป็นก้อนเนื้อร้ายที่เป็นเซลล์มะเร็ง แพทย์จะใช้วิธีฉายแสงเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งนั้นๆ
  3. การบำบัดด้วยเคมี ใช้ยาเคมีบำบัดรักษาเป็นการให้ยาเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง แพทย์จะประเมินว่าจะใช้วิธีไหน ซึ่งมีทั้งแบบรับประทาน และฉีดเข้าเส้นเลือด การให้ยาเคมีบำบัดเป็นการรักษาเสริม เพิ่มเติมของการฉายรังสีซึ่งจะใช้ได้ในเนื้องงอกบางชนิดเท่านั้น
เนื้องอกในสมองสามารถรักษาหายขาดได้หรือไม่

เนื้องอกสมองบางชนิด รักษาให้หายได้ แต่บางชนิดอาจไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้เช่นกัน แต่ไม่ว่าจะเป็นเนื้องอกชนิดใด การตรวจพบตั้งแต่ช่วงแรกของโรค หรือช่วงที่เนื้องอกมีขนาดเล็กส่งผลโดยตรงต่อโอกาสสำเร็จและภาวะแทรกซ้อนของการรักษา การตรวจโดยเร็วจึงมีความสำคัญมาก แม้ว่าโรคเนื้องอกในสมองจะไม่ทราบสาเหตุการเกิดที่แท้จริง และป้องกันไม่ได้ แต่สามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่อาจกระตุ้นทำให้เกิดเซลล์มะเร็งได้ เช่น การหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ พยายามดูแลตนเองให้แข็งแรงด้วยการออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงความเครียด และตรวจสุขภาพประจำปี หรือตรวจสุขภาพสมองและระบบประสาทอย่างน้อยปีละครั้ง ก็จะทำให้คุณมีชีวิตที่มีคุณภาพ และยืนยาว

บทความโดย ศูนย์สมองและระบบประสาท

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง