Skip to content

การตรวจเต้านมด้วยตัวเอง

หน้าแรก  >  บทความเกี่ยวกับสุขภาพ

มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งของมะเร็งในสตรี ปัจจัยที่ทำให้การรักษาได้ผลดีนั้นขึ้นอยู่กับระยะของโรคที่เป็น ถ้าเราพบได้ตั้งแต่ในระยะต้น ๆ ก็จะรักษาได้

  • การตรวจคัดกรองเพื่อหามะเร็งเต้านมระยะแรกเริ่ม มีแนวทางดังนี้
  • ตรวจเต้านมด้วยตนเอง อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เมื่ออายุ 20 ปี ขึ้นไป
  • ตรวจเต้านมโดยแพทย์ ทุก 3 ปี ตั้งแต่อายุ 20 ปี เป็นต้นไป หลังจากอายุ 40 ปี ควรได้รับการตรวจทุก 1 ปี
  • ควรทำแมมโมแกรม หรืออัลตราซาวน์ในช่วงอายุ 35 – 40 ปี 1 ครั้ง หลังจากอายุ 40 ปี ควรทำทุก 1 – 2 ปี
  • ในผู้ที่มีประวัติญาตสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งรังไข่ ควรเริ่มทำการตรวจตั้งแต่อายุที่ญาตเป็นลบออก 5 ปี
  • ในรายที่มีความเสี่ยงสูง หรือเต้านมมีความหนาแน่นมาก การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) จะช่วยให้มีการค้นพบมะเร็งให้มากขึ้นกว่าการทำแมมโมแกรม การตัดสินใจว่าจะตรวจหรือไม่ ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง

การตรวจเต้านมด้วยตัวเองเป็นการตรวจที่ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที ถ้าเราทำเป็นประจำจะเป็นการลงทุนทางสุขภาพที่มีความคุ้มค่ามากที่สุดโดย

  • ตรวจเป็นประจำทุกเดือน
  • ตรวจหลังประจำเดือนมา 7 – 10 วัน นับจากวันแรกของการมีประจำเดือน
  • ตรวจวันเดียวกันของทุกเดือนถ้าคุณไม่มีประจำเดือนแล้ว

วิธีการตรวจ

  • ยืนหน้ากระจกแล้วดูที่เต้านมทั้ง 2 ข้าง แล้วสังเกตว่า ขนาดรูปร่าง สีผิว ตำแหน่งของเต้านม หัวนมเป็นอย่างไร และควรเทียบการเปลี่ยนแปลงกับเดือนก่อน
  • หลังจากนั้นให้ยกแขนขึ้นเหนือศีรษะทั้ง 2 ข้าง แล้วดูที่เต้านมอีกครั้ง ค่อยๆหมุนตัวช้าๆ เพื่อที่จะดูบริเวณด้านข้างของเต้านม
  • ใช้มือเท้าเอวแล้วโน้มตัวมาข้างหน้าเล็กน้อยดูความเปลี่ยนแปลงซ้ำอีกครั้ง
  • ใช้นิ้วมือบีบที่หัวนมเบาๆ ดูว่ามีเลือด หนอง หรือน้ำไหลออกจากหัวนมหรือไม่
  • เริ่มคลำเต้านม โดยคลำตั้งแต่กระดูกไหปลาร้าลงมา ใช้มือซ้ายคลำเต้านมข้างขวา ให้ใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางทั้ง 3 นิ้ว ค่อยๆกดลงบนผิวหนังเบาๆ และกดแรงขึ้น จนกระทั่งสัมผัสกระดูกซี่โครง คลำเต้านมให้ทั่วทิศทาง การคลำทำได้หลายแบบ เช่น คลำเริ่มจากหัวนมไปตามแนวก้นหอยจนถึงฐานเต้านมบริเวณขอบ หรือคลำใต้เต้านมถึงกระดูกไหปราร้า ขยับนิ้วทั้ง 3 ในแนวเรียงแถวขึ้นลงสลับกันไป สิ่งที่สำคัญคือต้องคลำให้ทั่วเต้านมไปจนถึงบริเวณรักแร้ใต้วงแขน หลังจากนั้นให้เปลี่ยนคลำอีกข้างแบบเดียวกัน
  • เมื่อเสร้จการคลำในท่ายืนแล้ว ให้เปลี่ยนเป็นคลำในท่านอน ใช้หมอนหนุนไหล่ข้างที่จะทำ แล้วคลำซ้ำเหมือนท่ายืน

การตรวจพบที่ต้องระวัง

  • คลำได้ก้อนเนื้อที่เต้านมหรือสงสัยว่ามีก้อนที่เต้านม
  • ผิวหนังบริเวณเต้านมแตก บวม แดง หรือร้อน
  • รูขุมขนที่ผิวหนังบริเวณเต้านมใหญ่ขึ้นเหมือนผิวเปลือกส้ม
  • ผิวหนังบุ๋ม หรือมีการหดรั้ง
  • มีการนูนของผิวหนัง
  • ปวดเต้านมมากกว่าปกติที่เคย
  • คัน มีผื่น โดยเฉพาะบริเวณหัวนม และลานหัวนม
  • หัวนมบุ๋ม
  • การชี้ของหัวนมเปลี่ยนทิศทาง
  • เลือดไหลหรือมีของเหลวผิดปกติออกจากหัวนม
  • มีแผลที่หายยากของเต้านม หัวนม
“ถ้าตรวจพบอาการเหล่านี้ ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจโดยเร็ว”

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง