Skip to content

อันตราย(ไม่)เงียบ

หน้าแรก  >  บทความเกี่ยวกับสุขภาพ

ระหว่างที่เรากำลังเพลิดเพลิน กิน เที่ยว ดื่ม อยากทำอะไรก็ทำ ตามกระแสสังคมที่เปลี่ยนไป รู้หรือไม่ วันนี้ ตัวเลขค่าเฉลี่ยคุณภาพชีวิต ของคนไทย “น่าเป็นห่วง” ขึ้นตามลำดับ

ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2554 พบว่า ปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชากรไทย มากเป็นอันดับที่ 3 ของเอเชีย เฉลี่ย 52 ลิตร/คน/ปี (แต่การบริโภคนมอยู่ที่ 14 ลิตร/คน/ปี เท่านั้น) เป็นกลุ่มวัยรุ่นถึง 17 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด

ส่วนปริมาณบุหรี่อยู่ที่ร้อยละ 21.40 หรือราว 11.5 ล้านคน โดยมีตลาดสด และตลาดนัดเป็นแหล่งสุ่มควัน รองลงมาคือ บ้าน และที่ทำงาน

ขณะที่อาหารหวาน มัน เค็ม บนโต๊ะอาหาร ก็มีแนวโน้มสูงขึ้นมาโดยตลอด จนวันนี้ พฤติกรรมการใช้ชีวิตตามใจตัวเอง ท่ามกลางเทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ นั้น กำลังย้อนกลับมาทำร้ายเรา โดยไม่รู้ตัว ผ่านกลุ่มโรค NCDs โรคครอบโลก

NCDs  หรือ Non-communicable disease  เป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เช่น ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ อาหารหวานมันเค็มจัด และการ ออกกำลังกายไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดโรคจำนวน 6 โรค ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วนลงพุง โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง โรคถุงลมโป่งพอง และโรคมะเร็ง

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาประกาศว่า กลุ่มโรค NCDs หรือกลุ่มโรค ไม่ติดต่อเรื้อรังถือเป็นวิกฤตของโลกในปัจจุบัน เนื่องจากประชากรโลกมีอัตราการเสียชีวิต ด้วยกลุ่มโรค NCDs มากถึง 63 เปอร์เซ็นต์ จากทุกสาเหตุการเสียชีวิต

สิ่งที่น่าตกใจกว่านั้นก็คือ คนไทยเสียชีวิตจากโรคกลุ่มนี้มากถึง 73 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลก ที่สำคัญ ครึ่งหนึ่งของ คนที่เสียชีวิตด้วยโรค NCDs เป็นกลุ่มคน ที่อายุไม่ถึง 60 ปี

คิดเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจ ปีหนึ่งราวสองแสนล้านบาทจากโรคเหล่านี้” นพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เผยถึงความสำคัญที่ทำให้เราไม่ควรมองข้ามของโรคเหล่านี้ บนเวทีงาน “NCDs วิกฤตโรค วิกฤตโลก” เมื่อไม่นานมานี้

จากข้อมูล สำนักพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (iHPP) ในปี 2552 ประเทศไทยจากจำนวนประชากร 14 ล้านคน เสียชีวิต ด้วยกลุ่มโรค NCDs มากถึง 3 แสนคน  อย่าง โรคเบาหวาน พบผู้ป่วย 3.5 ล้านคน (มีมูลค่าการรักษา 47,596 ล้านบาทต่อปี) โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ คนไทยจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงเป็นโรคนี้โดยไม่รู้ตัวอยู่ประมาณ 10 ล้านคน

ในปี 2573 คาดการณ์ว่า โรคถุงลมโป่งพอง จะขยับขึ้นมาเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรโลกในลำดับที่ 4 เพราะปัจจุบันมีผู้ป่วย 100,000 คน ส่วนโรคมะเร็งนั้นทั่วโลกมีจำนวนผู้เสียชีวิต 8 ล้านคนต่อปี และโรคนี้เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยอันดับที่ 1 มาตลอด 13 ปีซ้อน ขณะที่โรคความดันโลหิตสูงคนไทยอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ป่วยมากถึง 11.5 ล้านคน และ 1 ใน 4 เท่านั้นที่มารับ การรักษา และสุดท้ายโรคอ้วนลงพุง คนไทย ที่มีรูปร่างอ้วนหรือท้วมมากถึง 17 ล้านคน และเสียชีวิต 20,000 คนต่อปี

ผมสูบมาได้ 9 ปีแล้ว” ต้อง (ขอสงวนชื่อจริง) เป็นผู้ชายอีกหนึ่งคนที่ใช้ชีวิตอยู่กับบุหรี่และแอลกอฮอล์มาตั้งแต่มัธยมต้น เขาเริ่มจากสังสรรค์กับกลุ่มเพื่อน ดื่มเหล้าก่อน แล้วค่อยมาลองบุหรี่  “สูบทุกครั้งหลังอาหารหรือถ้ามีเรื่องเครียดๆ ก็จะยิ่งสูบบ่อยขึ้น” พอรู้ตัวอีกทีก็ติดไปแล้ว เสพ = เสี่ยง

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า พฤติกรรมเหล่านี้ กำลังพาคนหนุ่มอย่างต้องนั้นเดินเข้าใกล้ สารพัดโรคที่อยู่ในข่าย NCDs ขึ้นทุกที เหมือนกับคนที่ใช้ชีวิตในสังคมสมัยใหม่ทั่วไป ที่มัก “ไม่ค่อยมีเวลา” ดูแลตัวเอง

ศ.พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ระบุลักษณะสำคัญของโรคกลุ่มนี้ว่า มีอยู่ทั้งสิ้น 4 ประการ

เป็นแล้วไม่หาย โรคที่สามารถป้องกันได้ ภัยเงียบที่ไม่มีอาการ และควบคุมได้ ปัจจัยหลัก ที่ก่อให้เกิดโรคเหล่านี้ก็มาจากตัวเรา เช่น การรับประทานในแต่ละวัน อาหารรสจัด สิ่งที่ ไม่มีประโยชน์ ชีวิตความเป็นอยู่ที่สุขสบายขึ้น เมื่อเราออกแรงน้อยลง กล้ามเนื้อเราจะ ลดลงด้วย กล้ามเนื้อเป็นตัวเผาผลาญพลังงาน มันก็จะเก็บสะสมเป็นไขมัน และความเครียด นำไปสู่การพักผ่อนไม่เพียงพอ เพราะการ พักผ่อนไม่เพียงพอก็ทำให้อ้วนได้ และส่งผลให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา

ส่วนสาเหตุทางกรรมพันธุ์นั้น นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยคนเดิมมองว่า ถือเป็น “มรดก” ที่ “เลี่ยงไม่ได้

ถ้าเราดูแลตัวเองอย่างดีก็สามารถชะลอเวลาให้มันเกิดช้าลง อย่างโรคเบาหวาน จะเห็นว่า จากเมื่อก่อนโรคเบาหวานเกิดกับคนที่มีอายุ 40-50 กว่าปี แต่ปัจจุบันกลับพบว่าเกิดขึ้นกับคนที่มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ” เธอตั้งข้อสังเกต

สำหรับสิงห์อมควัน และนักดื่มอย่าง ต้อง ยอมรับว่า ทั้งแฟน และครอบครัวต่างก็เคยห้าม แต่วิธีที่เลือกใช้เป็นประจำแทนการเลิก ก็คือ ไม่ทำให้เห็น

“ผมก็ไม่ได้อยากสูบบุหรี่ ดื่มเหล้าไปจนตายนะ” เขาออกตัว

อย่างไรก็ตาม เขาก็ไม่ได้ปฏิเสธความ ผิดปกติที่เริ่มเกิดขึ้นกับตัวเอง นอกจากการที่ทั้งครอบครัว และคนรักเริ่มถอยห่างแล้ว ดวงตาตัวเองก็เปลี่ยนจากที่เคยสีขาวใส เป็นอมเหลือง ริมฝีปากคล้ำอย่างเห็นได้ชัด ที่สำคัญ เรี่ยวแรงที่เคยมีก็กลายเป็นเหนื่อยง่าย

“ก็ถือเป็นเรื่องธรรมดาของคนที่ดื่มเหล้า และสูบบุหรี่ที่ต้องเจอนะผมว่า” การใช้ชีวิตธรรมดาที่ไม่ธรรมดาอย่างนี้ กลายเป็นภาพที่เราสามารถพบได้ทั่วไป ถึงจะรู้ว่าเป็นผลเสีย แต่ก็ไม่ได้ทำให้คนเราเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต ความน่าสนใจจึงอยู่ ตรงที่ว่า เกิดอะไรขึ้นกับการสื่อสารเรื่องสุขภาพกับสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวันที่ NCDs กำลังกลายเป็นปัญหาระดับโลกอยู่ในขณะนี้ ทำให้องค์การอนามัยโลกได้ให้ “โจทย์” กับทุกประเทศทั่วโลกในการหามาตรการป้องกัน และลดอัตราส่วนการเกิดของโรค เป็นพันธกิจ ผูกพันขององค์กรเครื่อข่ายด้านสุขภาพ ที่ต้องช่วยกัน

“สสส. พยายามจับมือกับทุกฝ่าย ชักชวนภาคีเครือข่าย องค์กร หน่วยงานทุกภาคส่วน มาร่วมกันทำให้เกิดระบบที่ดี” รศ.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม สสส. ชี้แจง

ระบบที่ดีที่เธออยากให้เกิดขึ้น อาทิ การจัดปัจจัยแวดล้อม และกิจกรรมทางกาย ที่มากขึ้น “อย่างเวลาที่เราทำงานจะใช้วิธีเดิน ขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟต์ อีกหนึ่งด้านคือ การเปลี่ยนค่านิยม การสร้างบรรทัดฐานใหม่ๆ ให้กับสังคม เมื่อก่อนคนจะมีค่านิยมว่า เรื่องนี้จัดการอะไรไม่ได้ เป็นเรื่องกรรมเก่า โดยครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่เราจัดภาวะความเสี่ยงมากกว่าหนึ่งโรคมารวมกัน ต่อจากนี้ไปเราจะมีงานที่ จับมือกัน ระดมทุกเรื่องที่เป็นวิถีชีวิต การสุ่มเสี่ยง แต่ควบคุมได้มาให้ความรู้ชักชวนประชาชน ให้หันมาปรับเปลี่ยนสู่พฤติกรรมให้ดีขึ้น”เริ่มที่ตัวเอง

“บางประเทศกำหนดเลยว่า อาหาร ประเภทถุง ขนมถุง ต้องมีปริมาณไขมัน ไม่อิ่มตัวกี่เปอร์เซ็นต์ ถ้าเกินถือว่าผิดกฎหมาย ควบคุมปริมาณน้ำตาลในอาหารต่างๆ การกำหนด ฉลากอาหารที่เข้าใจง่าย” นพ. ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย นักวิจัยสำนักพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศยกตัวอย่างบางมาตรการที่ออกมาใช้ปฏิบัติร่วมกัน  ถึงแม้จะมีมาตรการทางกฎหมายระดับสากลที่ออกมาปรับใช้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ การเพิ่มภาษีเพื่อลดการบริโภค เช่น แอลกอฮอล์ บุหรี่ เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากๆ เป็นต้น รวมถึง กำหนดสถานที่ปลอดบุหรี่ จำกัดพื้นที่การจำหน่าย, จำกัดอายุผู้ซื้อ, กฎหมายเมาไม่ขับ ฯลฯ หรือให้ความรู้กับประชาชน ออกมามากมาย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ากุญแจสำคัญของเรื่องนี้ อยู่ที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นหลัก

ผู้บริโภคทุกคนต้องมีความรู้ เข้าใจ เลือกบริโภคอาหารที่ดีคุณค่าต่อการดำเนินชีวิต ของเรา” เขายืนยัน  เหมือนอย่างที่ ณัฐ – ณัฐพนธ์ ไข่งามเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลของบริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดราชบุรีเคยทำได้เพราะทัศนคติที่ว่า เพื่อตัวเอง

ก่อนหน้านี้ เขาเป็นคนมีความสุขกับ การกิน ไม่เคยคิดว่าการกินจะนำพาโรคภัย มาสู่ชีวิต จนผลการตรวจสุขภาพประจำปี พบว่า ตัวเองเป็นเจ้าของน้ำหนัก 90 กิโลกรัม รอบเอว 101 เซนติเมตร ขณะที่น้ำตาลในเลือดสูงกว่า 200 ค่า ประมวลค่า BMI ได้ 31.21 เป็นโรคอ้วนลงพุง และอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็น ผู้ป่วยเบาหวาน รวมทั้งบ่อยครั้งที่เขามักปวดหัว อย่างรุนแรงหลังตื่นนอนจนต้องลางานบ่อยๆ

ตรงนี้กลายเป็นที่มาของคำถามสำคัญว่า “จะเดินเข้าสนามเต้นออกกำลังกายวันนี้ หรือจะเดินเข้าโรงพยาบาลรับยาเบาหวาน”

“ด้วยหน้าที่การงาน และอะไรหลายอย่าง จึงอยากเปลี่ยนตัวเอง เราต้องทำให้ได้ เลยตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรม ตอนนั้นยังอ้วน มีพุง ก่อนหน้านี้เราแยกไม่ออกระหว่าง ความอยาก กับ ความหิว จริงๆ แล้วสิ่งไหนร่างกายต้องการจริงๆ สุขภาพของเราก็ไม่ดี หลังจากเข้าร่วมกิจกรรมผลออกมาคือ สุขภาพ เราก็ดีขึ้น และเราสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นได้” ขณะที่ ภูริวัจน์ ธรรมอัครวิทย์ หรือ นัทยอมรับตรงๆ ตามสไตล์นักตกแต่งภายในว่า รู้สึกฉลาดขึ้นที่ตัดสินใจอยู่ห่างจากควันบุหรี่

“สมมติสูบบุหรี่ตัวหนึ่งใช้เวลา 10 นาที ซองหนึ่งก็ประมาณ 200 นาที” นั่นคือเวลาที่หายไปจากชีวิตของเขา

ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่นัททุ่มเทให้ กับบุหรี่และแอลกอฮอล์ ถึงเจ้าตัวจะออกตัว ว่า ไม่ค่อยมีผลกระทบกับร่างกายเพราะ ออกกำลังกายเป็นประจำอยู่แล้ว แต่กับสังคมรอบข้าง โดยเฉพาะครอบครัวที่ “เริ่มร้าวฉาน” ขึ้นทุกที

“ภรรยาเริ่มจะไม่รัก ไม่อยากอยู่ด้วย เราใช้เวลาในการปาร์ตี้มากกว่าคุยกับภรรยา” เขาจึงตัดสิน “หย่า” กับบุหรี่ทันที

“แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย กว่าจะก้าวข้าม มาได้ หลายครั้งที่ท้อ ถอดใจ ภรรยาและคนรอบข้างพูดกับผมว่า ยังไงก็เลิกไม่ได้หรอก เลิกทำดีกว่า เพียงเพราะผมยังต้องการมันอยู่ จากที่สูบบุหรี่จัดมาก ก็ค่อยๆ ลดลง”

จนถึงวันนี้ เป็นเวลากว่าครึ่งปีแล้ว ที่เขาไม่ได้ย่างกรายใกล้บุหรี่ แน่นอนว่า นิโคติน ที่เสียไปก็ได้ความอบอุ่นของครอบครัวมา เป็นของชดเชยกัน

ผมก็ได้เวลา 200 นาทีนั้นมาอยู่กับ ภรรยาแทน ชีวิตก็กลับมามีความสุขอีกครั้ง” แน่นอนว่า แรงผลักดันสำคัญในภารกิจนี้ก็คือ “ความรัก” ที่ทำให้นัทชนะใจตนเองได้ในที่สุด

เรื่องราวทั้งหมด จึงมาจบตรงคำถามสำคัญ วันนี้ก็คือ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะหันกลับมาเอาใจใส่สุขภาพ (ที่หลายคนอาจละเลยมานาน) และลองสักครั้ง ขณะที่ยังมีโอกาส

…เพราะต้องไม่ลืมว่า ทุกสิ่งทุกอย่างของ NCDs คือสิ่งที่เราสร้างเอง

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการข้อมูลสุขภาพ หรือโทร.1719

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง