Skip to content

แรงบันดาลใจ….แพทย์หญิงจารุวรรณ จัทรประไพวัลย์

หน้าแรก  >  บทความเกี่ยวกับสุขภาพ

ในการที่จะทำอะไรสักอย่างนั้น เชื่อว่าในแต่ละคนมีไม่เหมือนกัน บางคนต้องพบกับความผิดหวังก่อน ถึงจะค้นพบแรงบันดาลใจของตัวเอง บางคนอาจจะเกิดมาจากสิ่งที่ตัวเองต้องพบเจออยู่เป็นประจำ จนอาจจะเรียกได้ว่าได้พบกับ”แรงบันดาลใจ”ของตัวเอง โดยไม่รู้ตัว

แพทย์หญิงจารุวรรณ จัทรประไพวัลย์ หรือที่คนไข้ชอบเรียกว่า “หมอผึ้ง” ก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ได้พบแรงบันดาลใจ ในการเลือกที่จะเป็นหมอ เนื่องมาจากว่า ตอนเด็กป่วยบ่อย

“หมอเป็นลูกคนที่ 5 จากจำนวนพี่น้องทั้งหมด 6 คน ตอนเด็กก็อยู่ในบ้านเล็กๆเนอะในชนบทซึ่งมันก็ลักษณะเหมือนเป็นครอบครัวใหญ่แล้วก็อยู่ด้วยกันเป็นครอบครัวขยายและก็ทุกคนในหมู่บ้านจะรู้จักกันหมด แล้วก็เป็นหมู่บ้านที่อยู่ท่ามกลางธรรมชาติส่วนใหญ่ก็จะทำไร่เกี่ยวกับพวกเกษตรกรรมเป็นหลัก”

“แล้วก็พอโตมาก็ย้ายมาอยู่หมู่บ้านนี้ก็ยังเป็นลักษณะของหมู่บ้านในชนบทคนในหมู่บ้านจะรู้จักกันแล้วก็ยังมีการช่วยเหลือกันไม่ได้อยู่กันแบบตัวใครตัวมัน”

“ที่บ้านก็จะประกอบอาชีพค้าขายเกี่ยวกับเม็ดมะม่วงหิมพานต์” “ตอนเด็กๆเราก็จะเรียนหนังสือเป็นงานหลัก แต่ก็ต้องช่วยทำงานบ้านด้วย และก็ช่วยขายของ”

“แต่เนื่องจากตอนเด็กจะเป็นคนที่ป่วยบ่อย ก็เลยมาคิดว่าอาชีพอะไรที่เราสามารถดูแลตัวเองและครอบครัวได้ ก็เลยเป็นจุดเล็กๆที่มีความคิดที่จะเรียนเป็นแพทย์”

“ประจวบเหมาะกับโรงเรียนที่หมอเรียน (โรงเรียนชลกันยานุกูล) (มีโควต้าของแพทย์ มศว.ภาคตะวันออกที่เปิด ก็เลยลองไปสอบดู ปรากฎว่าได้( ยิ้ม) ก็ตัดสินใจว่า เออ! นี่คงใช่ทางของเรา ก็เลยตัดสินใจเรียนแพทย์มา”

“ปกติเรียนแพทย์จะเรียน 6 ปี หลังเรียนจบจะใช้ทุนต่ออีก 3 ปี พอใช้ทุนจบก็กลับมาเรียนต่อ ตอนแรกเลือกเรียนที่แผนกอายุรกรรม อายุรกรรมก็จะเป็นโรคที่ให้การรักษาทางยา แต่ระหว่างเรียนได้เจอกับคนไข้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารเยอะมาก แล้วตอนที่ใช้ทุนอยู่ก็เจอคนไข้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับตับ เกี่ยวกับกระเพาะลำไส้มาก ก็เลยตัดสินใจว่าจะเรียนหมออายุรกรรมอาหาร”

“อุปสรรคในการรักษาคนไข้เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ตอนนี้เราจะเป็นระบบการรักษาโรคที่เกิดขึ้นแล้ว มันไม่ใช่ทางป้องกัน เพราะฉะคนไข้จะขาดการเข้าใจในการป้องกันโรค และเวลาเรารักษาคนไข้ เราถึงต้องแนะนำให้รู้จักตัวโรค สาเหตุการเกิดเพื่อที่จะให้เค้าป้องกันแล้วก็ช่วยเราในเรื่องการปฏิบัติตัว เพราะการรักษาด้วยยาอย่างเดียวมันไม่ได้ผลร้อยเปอร์เซนต์ คนไข้ต้องช่วยเราด้วย(ยิ้ม)”

“แล้วก็ปัญหาเรื่องระบบการป้องกันโรค อย่างเช่น คนที่เป็นโรคตับอักเสบจากไวรัสบี จะขาดความเข้าใจในการป้องกันโรค ซึ่งไวรัสตับอักเสบบี สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน หรือว่าระวัดระวังเรื่องเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ “

“ส่วนเคสที่เรารู้สึกสะเทือนใจก็มีนะ มีคุณลุงคนนึงที่เกิดมาแล้วขาขาด เค้าเป็นคนไข้มะเร็งระยะสุดท้าย จากโรงพยาบาลอื่น เค้าก็มาให้เราดูแลช่วงสุดท้ายของชีวิต ตอนที่เค้าป่วยหนักมากๆเนี่ย ญาติไม่สามารถพามาที่นี่ได้ตลอด เวลามีอะไรญาติก็จะโทรมาปรึกษา จนสนิทสนมกัน จนถึง่วงสุดท้ายของชีวิตจริงๆ คือคุณลุงไปนอนที่ห้อง ไอซียูที่โรงพยาบาลอื่น ใส่ท่อช่วยหายใจ ญาติก็ยังโทรมาบอกว่า หมอคุณลุงแย่แล้วนะ แต่คุณลุงอยากเจอหมอ ถ้ายังไงหมอคุขกับคุณลุงหน่อยนะ แล้วก็เอามือถือไปแนบที่หูคุณลุงที่ใส่ท่อช่วยหายใจอยู่ แล้วก็คุยกับคุณลุงว่า “นี่หมอจารุวรรณนะคะ ทำใจให้สบายนะคะ” พออีกวันญาติก็โทรมาบอกว่าคุณลุงเสียแล้วนะ

คือคนไข้ยังคงคิดถึงเราแม้กระทั่งช่วงสุดท้ายของชีวิต

“อย่างการรักษาโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหารหรือว่าตับ โรคบางอย่างที่รักษาแล้วไม่หายก็มีเยอะ แต่ที่สำคัญจริงๆคนไข้จะต้องดูแลตัวเองและมีความเข้าใจกับโรค ก็จะมีการป้องกันได้ เช่น ไวรัสตับอักเสบบี คนไข้ก็จะสามารถดูแลตัวเองและติดตามอาการของโรคได้ และก็ทำให้ตัวเองมีสุขภาพชีวิตที่ดีได้

ด้วยความที่เป็นคุณหมอเกี่ยวกับโรคระบบทางเดินอาหารก็ยิ่งทำให้ต้องใส่ใจและดูแลตัวเองเป็นพิเศษ

“เพราะว่าโรคกรดไหลย้อน หรือโรคกระเพาะ มันขึ้นอยู่กับความเครียด เพราะฉะนั้น เราจึงต้องมีงานอดิเรกทำ เช่น การออกกำลังกาย หรือว่านั่งสมาธิ ทำสวน แล้วก็เรื่องอาหารด้วย ต้องทานให้ถูกหลัก ไม่เป็นอาหารที่รสจัดเกินไป หรืออาหารที่มีคาเฟอีนประกอบอยู่เยอะๆ เช่นพวก ชา กาแฟ น้ำหวานหรือช็อกโกแลต และอีกอย่างคือ จะไม่ทานอาหารจนอิ่มแล้วก็นอนเลย”

“เรื่องโภชนาการก็มีความสำคัญมาก เนื่องจากว่าในปัจจุบันคนส่วนใหญ่จะใช้ชีวิตเร่งรีบ เราไม่สามารถจะจำกัดอาหารได้ แต่เราสามารถทำให้ชีวิตมีทางเลือกได้ เช่น สมมุติว่าเราเป็นโรคกระเพาะ และตอนกลางวันเราต้องทานข้าวที่เป็นอาหารจานด่วน ก็อาจจะเลือกอาหารที่มันไม่กระตุ้นอาการของโรคกระเพาะ เช่น ข้าวกับต้มจืด ผัดผัก หรือว่าปลานึ่ง และไม่ควรที่จะทานหนักจนเกินไป ต้องเลือกชนิดของอาหารควบคู่ไปด้วย”

“เรื่องการบริหารเวลาก็สำคัญ บางที่คนไข้จะบอกหมอว่าไม่มีเวลาออกกำลังกาย ไม่มีเวลาทำงานอดิเรก ทุกคนมีเวลาเท่ากัน แต่ว่าเราจัดการเวลาไม่ได้ ถ้าคุณยังมีเวลาเล่นเฟสบุ๊ค คุณยังมีเวลาไปเล่นไลน์ หรือว่าไปช๊อปปิ้งกับเพื่อน แสดงว่าคุณมีเวลาแน่นอน ดังนั้นคุณต้องจัดเวลานั้นมาทำในสิ่งที่ทำให้สุขภาพคุณดีขึ้น เช่น ออกกำลังกาย เลี้ยงสัตว์ หรือนั่งสมาธิ อะไรที่ทำให้เราผ่อนคลายจากงานประจำ แล้วก็ทำให้สุขภาพเราแข็งแรงขึ้น ทุกคนมีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน มันขึ้นอยู่กับการบริหารเวลาของเราเองมากกว่า”

“ส่วนงานอดิเรกของหมอ ก็จะทำช่วงวันเสาร์ อาทิตย์ หรือตอนเย็น ก็จะมีทั้งออกกำลังกายเลี้ยงสัตว์ หรือทำขนม ทำครัว ซึ่งงานอดิเรกประเภทนี้ไม่ต้องใช้เวลามาก

และจะช่วยทำให้เราผ่อนคลายความเครียดกับชีวิตประจำวัน แล้วก็ทำให้เราใช้เวลาว่างให้มีประโยชน์ด้วย”

คนหลายๆคนไม่รู้ว่าตัวเองได้เจอแรงบันดาลใจหรือยัง ลองนิ่งคิด และถามตัวเองดีๆว่า แรงบันดาลของเราคืออะไร ถ้าเจอแล้วอย่าปล่อยให้แรงบันดาลใจนั้นหลุดลอยไป แต่ขอให้แน่วแน่ในสิ่งนั้น แล้วคุณจะมีความสุขกับมัน เหมือนที่หมอผึ้งของเราได้เจอ

Quote Note “ถ้าคุณยังมีเวลาเล่นเฟสบุ๊ค คุณยังมีเวลาไปเล่นไลน์ หรือว่าไปช๊อปปิ้งกับเพื่อน แสดงว่าคุณมีเวลาแน่นอน”

“ทุกคนมีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน มันขึ้นอยู่กับการบริหารเวลาของเราเองมากกว่า”

โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการข้อมูลสุขภาพ หรือโทร.1719

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง