Skip to content

วันงดสูบบุหรี่โลก

หน้าแรก  >  บทความเกี่ยวกับสุขภาพ

ตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมา องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้ วันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นให้ทุก ๆ ประเทศตระหนักถึงอันตราย และความสูญเสียทั้งทางสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมที่เกิดจากการสูบบุหรี่

ในปี 2548 องค์การอนามัยโลกได้กำหนดประเด็นการรณรงค์ คือทีมสุขภาพร่วมใจ ขจัดภัยบุหรี่            ( Health Professionals And Tobacco Control) โดยการสนับสนุนให้บุคลากรสาธารณสุขอันได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ รวมถึงแพทย์เฉพาะทางต่าง ๆ พยาบาล เภสัชกร และนักวิชาการสาธารณสุข แสดงบทบาทในการเป็นผู้นำในการรณรงค์ไม่สูบบุหรี่

การสูบบุหรี่ทำให้

  • อัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจสูงขึ้นเป็น 2 เท่า
  • อัตราเสี่ยงของการเกิดโรคถุงลมโป่งพองสูงขึ้นเป็น 6 เท่า
  • อัตราเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปอดสูงขึ้นเป็น 10 เท่า

สารอันตรายในบุหรี่

ควันบุหรี่จะประกอบไปด้วยสารเคมีที่มีอันตรายต่อสุขภาพกายของคนเราประมาณ 4,000 ชนิด ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ 3 กลุ่ม คือ

กลุ่มแรกได้แก่ ทาร์ หรือ น้ำมันดิน หรือที่เห็นเป็นคราบบุหรี่ เป็นที่รวมของสารเคมีในกลุ่มของไฮโดรคาร์บอน ซึ่งจะรวมตัวเป็นสารที่มีความเหนียวติดอยู่กับเนื้อปอด และมีคุณสมบัติเป็นสารก่อมะเร็งโดยตัวของมันเอง นอกจากนี้ยังเป็นสารที่เร่งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง หากผู้สูบบุหรี่นั้นมีโรคมะเร็งอยู่ในร่างกายแล้ว

กลุ่มที่สอง ได้แก่ นิโคติน ซึ่งจัดเป็นสารที่มีการกระตุ้นสมอง และประสาทส่วนกลางได้ในระยะแรก แต่ระยะต่อมาจะมีฤทธิ์กดระบบประสาท นอกจากนี้ยังทำให้เส้นเลือดหดตัว มีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น กระตุ้นหัวใจให้เต้นเร็วขึ้นด้วย นิโคตินมีส่วนทำให้คนที่สูบบุหรี่อยากสูบอยู่เรื่อยๆ

กลุ่มที่สาม ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซค์ ซึ่งมีความเข้มข้นสูงในควันบุหรี่จะไปขัดขวางการรับออกซิเจนของเม็ดเลือดแดง และยังทำให้ไขมันพอกพูนตามผนังเส้นเลือดมากขึ้น ทำให้เส้นเลือดตีบ สายตาเสื่อม ลดประสิทธิภาพในการตัดสินใจ และลดการตอบสนองต่อเสียง ซึ่งเป็นอันตรายต่อคนขับรถ นักบิน และมีผลทำให้สมรรถภาพของนักกีฬาลดน้อยลง

การสูบบุหรี่มีอันตรายต่อคนรอบข้าง

เด็ก

ทำให้เด็กในครอบครัวป่วยด้วยโรคหลอดลมอักเสบ ปอดบวม หอบหืด หูชั้นนอกอักเสบเพิ่มมากขึ้น

หญิงมีครรภ์ 

น้ำหนักตัวขณะตั้งครรภ์เพิ่มน้อยกว่าปกติและมีโอกาสแท้ง คลอดก่อนกำหนด ตกเลือดระหว่างคลอด และหลังคลอดมากเป็น 2 เท่าของหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่สูบบุหรี่ นอกจากนั้นยังทำให้เกิดภาวะรกเกาะต่ำ และรกลอกตัว ก่อนกำหนดมากขึ้น ลูกที่คลอดจากแม่ที่สูบบุหรี่ อาจจะมีน้ำหนักและความยาวน้อยกว่าปกติ พัฒนาการทางด้าน สมองช้ากว่าปกติ อาจมีความผิดปกติทางระบบประสาท, ระบบความจำ

คู่สมรสของผู้สูบบุหรี่

 มีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากกว่าคู่สมรสที่ไม่สูบบุหรี่ 2 เท่า มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจ 3 เท่า และเสียชีวิตเร็วกว่าปกติถึง 4 ปีคนทั่วไป ควันบุหรี่จะทำให้เกิดอาการเคืองตา ปวดศีรษะ คัดจมูก น้ำมูกไหล โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการหอบหืด โรคหัวใจ โรคหลอดลมอักเสบ ก็จะทำให้มีอาการของโรคเพิ่มมากขึ้น

โรคมะเร็งปอด มีโอกาสเป็นมากกว่าผู้ที่ไม่สูบถึง 20 เท่า

มะเร็งปอด (lung cancer) เป็นโรคที่พบมาก และเป็นสาเหตุการตายในอันดับต้นๆ ทั้งเพศชาย และหญิงในประเทศไทย และอุบัติการณ์ของโรคนี้กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในเพศหญิง ผู้ป่วยมะเร็งปอดร้อยละ 90 เกิดจากการสูบบุหรี่ ซึ่งสามารถป้องกันได้ ธรรมชาติทางชีววิทยาของโรคมะเร็งปอด ทำให้พบผู้ป่วยเมื่อเริ่มมีอาการ ในขณะที่โรคอยู่ในระยะลุกลาม และแพร่กระจาย เป็นผลให้ผู้ป่วยประมาณร้อยละ 90 เสียชีวิตจากโรคมะเร็งภายในเวลา 1-2 ปี โรคมะเร็งปอดพบมากในผู้สูงอายุวัย 50-75 ปี ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้ที่สูบบุหรี่ปริมาณมาก และประมาณร้อยละ 5 เป็นผู้ที่ต้องสูดดมควันบุหรี่จากผู้อื่น ผู้ที่สูดดมควันบุหรี่จากผู้อื่นจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดเพิ่ม ขึ้นร้อยละ 26 จำนวนมวนของบุหรี่ที่สูบต่อวัน และชนิดของบุหรี่ที่สูบจะสัมพันธ์กับอัตราเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด ผู้ที่สูบบุหรี่ร้อยละ 15 จะเกิดโรคมะเร็งปอดภายในเวลา 30 ปี ถ้าเลิกสูบบุหรี่สามารถลดอัตราการเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดลงเหลือเท่าผู้ ไม่สูบบุหรี่ได้ภายในเวลา 15

แนวทางการเลิกบุหรี่ในปัจจุบัน

  • กำลังใจอย่างเดียว ในการเลิกบุหรี่ด้วยตัวเองโดยอาศัยกำลังใจอย่างเดียว พบว่าส่วนใหญ่จะประสบความสำเร็จน้อยและมักกลับมาสูบอีก
  • วิธีการอื่น ๆ เช่น การใช้พฤติกรรมบำบัด การทำกิจกรรมกลุ่ม การใช้น้ำยาบ้วนปาก (ซึ่งทำให้รสชาติของบุหรี่เปลี่ยนไป) การสะกดจิตและการฝังเข็ม หลักฐานที่จะนำมาสนับสนุนผลความสำเร็จของวิธีการต่าง ๆ เหล่านี้ยังขาดอยู่มาก
  • การใช้ยาในการรักษาการติดนิโคติน การใช้ยาสามารถช่วยลดความทรมานจากการติดทางร่างกายได้ ทำให้เราสามารถทุ่มเทกำลังใจในการต่อสู้กับการติดทางจิตใจได้เต็มที่ ในปัจจุบันมีการใช้ยาช่วยเลิกบุหรี่

การให้นิโคตินทดแทน

มีอยู่ในรูปของแผ่นแปะนิโคติน และหมากฝรั่งนิโคติน หลักการคือการให้สารนิโคติน ในระดับต่ำ ๆ เพื่อระงับอาการขาดนิโคติน อาการดังกล่าว ได้แก่ อาการหงุดหงิดง่าย กระวนกระวาย เสียสมิ และเหนื่อยง่าย หลังจากนั้นจะค่อย ๆ ลดขนาดยาลงเรื่อย ๆ จนหมด ทั้งแผ่นแปะนิโคติน และหมากฝรั่ง นิโคตินใช้ได้ผลใกล้เคียงกัน ข้อจำกัดของการใช้นิโคตินทั้ง 2 รูปแบบนี้คือ เมื่อเริ่มใช้ยาผู้สุบบุหรี่ต้องหยุดสูบบุหรี่ทันที การใช้ยาไปด้วยแล้วค่อย ๆ สูบน้อยลง จะทำให้เลิกบุหรี่ไม่สำเร็จ นอกจากนั้นปริมาณนิโคตินโดยรวมที่ร่างกายได้รับเข้าไปอาจมากเกินไปทำให้เกิดอันตรายได้ ดังนั้นการใช้ยาทั้ง 2 ชนิดนี้จึงต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

ยาเม็ดรับประทาน

ในปัจจุบันมีแนวทางอื่นในการเลิกบุหรี่ในรูปยาเม็ดรับประทานที่สามารถลดอาการขาดนิโคตินโดยที่ผู้สูบบุหรี่ไม่จำเป็นต้องหยุดสูบบุหรี่ในทันทีที่ทานยาเนื่องจากยาตัวนี้ไม่มีส่วนผสมของสารนิโคติน จึงทำให้ไม่ต้องเสี่ยงกับการได้รับนิโคตินมากไป การใช้ยานี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เช่นเดียวกัน

โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการข้อมูลสุขภาพ หรือโทร.1719

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง