Skip to content

โรคกระดูกพรุน

กระดูกประกอบด้วย โปรตีน คอลลาเจน และแคลเซียม ซึ่งแคลเซียมฟอสเฟตเป็นตัวทำให้กระดูกแข็งแรง ทนต่อแรงกระแทกหรือดึงรั้ง กระดูกมีการสร้างและสลายตัวอยู่ตลอดเวลา คือ ขณะที่มีการสร้างกระดูกใหม่โดยใช้แคลเซียมจากอาหารที่กินเข้าไป ก็จะมีการสลายแคลเซียมในเนื้อกระดูกเก่าออกมาในเลือดและถูกขับออกมาทางปัสสาวะและอุจจาระ

เด็ก กับ ผู้ใหญ่ ใครกระดูกแข็งแรงกว่ากัน

ปกติในเด็กจะมีการสร้างกระดูกมากกว่าการสลาย ทำให้กระดูกมีการเจริญเติบโต มวลกระดูกจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นจนมีความหนาแน่นสูงสุด เมื่ออายุประมาณ 30-35 ปี หลังจากนั้นจะเริ่มมีการสลายกระดูกมากกว่าการสร้าง ทำให้กระดูกค่อยๆ บางตัวลงตามอายุที่มากขึ้น

ผู้ชายกับผู้หญิง เกิดโรคกระดูกพรุนแตกต่างกันหรือไม่

ผู้ชายจะเกิดภาวะกระดูกพรุนช้ากว่าผู้หญิงโดยเฉลี่ยประมาณ 10 ปี  โดยผู้ชายจะมีอัตราการลดลงของมวลกระดูก 1-2% ต่อปี ในผู้หญิงช่วงหลังวัยหมดประจำเดือนจะมีอัตราการลดลงของมวลกระดูก 3-5 % ต่อปี ซึ่งเกิดจากการลดลงของฮอร์โมนเอสโทรเจนอย่างรวดเร็ว ฮอร์โมนชนิดนี้ช่วยการดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกายและชะลอการสลายของแคลเซียมในเนื้อกระดูก เมื่อพร่องฮอร์โมนชนิดนี้ก็จะทำให้กระดูกบางตัวลงอย่างรวดเร็ว จนเกิดภาวะกระดูกพรุน

โรคกระดูกพรุนส่วนใหญ่จึงเกิดจากภาวะหมดประจำเดือนในผู้หญิง (ในช่วง 10ปี แรกหลังหมดประจำเดือน จะมีการสลายของกระดูกเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว) และความเสื่อมตามอายุที่มีการสะสมอย่างค่อยเป็นค่อยไปและยาวนานของการเสียสมดุลระหว่างการสร้างและการสลายของกระดูก พบได้ทั้งชายและหญิงที่มีอายุมากกว่า 75 ปี

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง