Skip to content

ลิ้นหัวใจรั่ว … ภัยเงียบน่ากลัว

หน้าแรก  >  บทความเกี่ยวกับสุขภาพ

โรคลิ้นหัวใจรั่วอันตรายไหม

รู้หรือไม่ครับว่าโรคลิ้นหัวใจรั่วถือเป็นภัยเงียบที่น่ากลัวอีกโรคหนึ่งสำหรับคนไทย เพราะโรคนี้มักไม่แสดงอาการในระยะเริ่มแรก แต่จะเริ่มแสดงอาการเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นแต่ก็ไม่รุนแรง และจะแสดงอาการรุนแรงเมื่ออายุประมาณ 40 – 50 ปี จนทำให้ผู้ป่วยเหนื่อยและอ่อนเพลียมากขึ้น โรคนี้เมื่อเกิดกับใครแล้วจะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง หรือรบกวนชีวิตประจำวันของคนๆนั้น เพราะจะทำอะไรก็จะเหนื่อยง่าย ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ บางรายก็อาจเสียชีวิตได้เนื่องจากการทำงานของหัวใจล้มเหลว โรคลิ้นหัวใจรั่วมักมีสาเหตุจากความผิดปกติของเนื้อเยื่อลิ้นหัวใจมาแต่กำเนิดงผลให้ลิ้นหัวใจเสื่อมไวกว่าคนทั่วไป โรคลิ้นหัวใจรั่ว ที่พบบ่อยในคนไทยคือ ลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างห้องบนและห้องล่างด้านซ้าย

การตรวจหาลิ้นหัวใจรั่ว

การตรวจโรคลิ้นหัวใจรั่วที่ให้ผลแม่นยำและเป็นมาตรฐาน จะตรวจโดยการใช้คลื่นเสียงสะท้อนหรือเครื่องอัลตราซาวนด์ เรียกการตรวจชนิดนี้ว่า เอคโค่ (echocardiogram) ซึ่งต้องอาศัยเครื่องมือ และความชำนาญของแพทย์ในการทำ และแปลผล โดยส่วนใหญ่การตรวจแบบใช้เครื่องอัลตราซาวนด์ ใช้เวลาเพียง 30 นาที ก็สามารถรู้ผลการตรวจได้ว่าหัวมีความผิดปกติหรือไม่ และสภาพการทำงานเป็นอย่างไร เช่น ทิศทางการไหลเวียนของเลือด จังหวะการสูบฉีดเลือดของหัวใจเมื่อมีการหายใจเข้าออก การปิดเปิดของลิ้นหัวใจเมื่อเลือดสูบฉีดว่ามีการรั่ว หย่อนยาน หรือปูดขึ้นหรือไม่ ทั้งนี้แพทย์จะแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยด้วยว่าจะรักษาด้วยวิธีการใดถึงจะเหมาะสมกับอาการที่ผู้ป่วยเป็นอยู่

สาเหตุหลักๆของการเกิดลิ้นหัวใจรั่ว

  • มีความผิดปกติของลิ้นหัวใจที่เป็นมาแต่กำเนิด โดยอาจไม่มีอาการอะไรให้เห็นในวัยเด็กหรือตั้งแต่มารดาตั้งครรภ์
  • ลิ้นหัวใจเสื่อมตามอายุ เนื่องจากเป็นอวัยวะที่เคลื่อนไหวและรับแรงจากเลือดตลอดเวลา ดังนั้นจึงเกิดการเสื่อมขึ้น ลิ้นหัวใจ จะหนาตัวขึ้นและเริ่มมีหินปูน (calcium) เข้าไปสะสมในเนื้อเยื่อ ทำให้ปิดไม่สนิท
  • โรคหัวใจรูห์มาติค ซึ่งพบบ่อยในเด็ก ร่างกายสร้างภูมิต้านทานขึ้นมา ต่อต้านหัวใจตนเอง เกิดการอักเสบของลิ้นหัวใจ ผลตามมาคือลิ้นหัวใจหนาตัวขึ้นมาก เกิดลิ้นหัวใจตีบและรั่ว โรคนี้ยังจัดเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศ พบบ่อย ๆ ในผู้ป่วยเศรษฐานะต่ำ หรืออยู่ในชุมชนแออัด
  • เกิดจากการติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ ทำให้ลิ้นหัวใจอักเสบเป็นรู เชื้อโรคอาจมาจากช่องปาก เข็มฉีดยาที่ไม่สะอาดในผู้ติดยาเสพติด การเจาะตามร่างกาย เป็นต้น

การรักษาลิ้นหัวใจรั่ว

แพทย์จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าสมควรผ่าตัดซ่อมแซมลิ้นหัวใจที่เกิดการชำรุดหรือไม่ ซึ่งโดยมากแพทย์จะผ่าตัดเฉพาะในรายที่ลิ้นหัวใจชำรุดมากเท่านั้น หากชำรุดเพียงเล็กน้อย แพทย์มักจะแนะนำวิธีการปฏิบัติตัวและเฝ้าติดตามอาการไปเรื่อยๆ ซึ่งการผ่าตัดซ่อมแซมลิ้นหัวใจบางรายอาจต้องมีการผ่าตัดซ่อมแซมซ้ำอีก ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการตอบสนองและการดูแลตัวเองของผู้ป่วยแต่ละรายโดยทีมศัลยแพทย์

โรคหัวใจอื่นเราสามารถเฝ้าระวังดูแลสุขภาพออกกำลังกาย ไม่ทานอาหารที่มีความเสี่ยงได้ แต่โรคลิ้นหัวใจรั่วต่างจากโรคหัวใจชนิดอื่นที่มักมีสาเหตุจากความผิดปกติของเนื้อเยื่อลิ้นหัวใจมาแต่กำเนิด สิ่งที่ดีที่สุดคือลองสำรวจตัวเองว่าเข้าข่ายหรือไม่ หากไม่แน่ใจผมแนะนำให้มาตรวจดีกว่าเพื่อที่จะป้องกันได้แต่เนิ่น ๆ

หากมีข้อสงสัยสามารถทำนัด สอบถามข้อมูลหรือปรึกษากับทีมศูนย์หัวใจ ได้ที่ทุกช่องทางการติดต่อของโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา

ตรวจสุขภาพหัวใจ

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง